Search
Close this search box.
ปรับพื้นที่ยกแปลงไม้ดอกสวนปทุมวนานุรักษ์ แวะเขตยานนาวาจัดระเบียบผู้ค้าหน้าไอซีซีสาธุประดิษฐ์ 58 ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดคลองใหม่ประดิษฐ์ของใช้จากขยะรีไซเคิล คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติพระรามที่ 3 

 

 

(20 ธ.ค. 66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตปทุมวันและเขตยานนาวา ประกอบด้วย 

 

ติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนปทุมวนานุรักษ์ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมตรวจสอบพบว่า แปลงไม้ดอกไม้ประดับภายในสวนปทุมวนานุรักษ์ มีสภาพร่วงโรยและเหี่ยวเฉาไปตามอายุของต้นไม้ จึงได้ดำเนินการรื้อถอนแปลงไม้ดอกไม้ประดับเดิมออก และวางแผนปลูกไม้ดอกไม้ประดับชุดใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ยกแปลง ฟื้นฟูแปลงดอกไม้ ปรับปรุงสนามหญ้า เพื่อเตรียมปลูกไม้ดอกไม้ประดับโทนสีม่วง สีชมพู สีเหลือง อาทิ สร้อยไก่ ดาวเรือง แพงพวย บานชื่นแคระ พร้อมทั้งปลูกบัวในบ่อด้านหน้าสวนเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 สำหรับสวนปทุมวนานุรักษ์ มีพื้นที่ 27 ไร่ แบ่งเป็นสวนหย่อม 20 ไร่ สวนป่า 7 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายสำหรับประชาชน 

 

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 แยก 18 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 244 ราย ได้แก่ 1.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 2.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 02.00-20.00 น. 3.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. และ 5.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 152 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน มีจำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 51 ราย ได้แก่ 1.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. และ 3.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้บันทึกข้อมูลผู้ค้าพร้อมทั้งจัดทำคิวอาร์โค้ดให้กับผู้ค้าเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว ซึ่งในปี 2567 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกหรือยุบรวมจุดทำการค้าหน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย 

 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เพื่อให้ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ขีดสีตีเส้นกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยย้ายผู้ค้าเข้าไปยังจุดที่เขตฯ กำหนด หรือจุดจัดทำเป็น Hawker Center บริเวณตลาดนัดสาธุ ซอยสาธุประดิษฐ์ 3 ซึ่งเป็นตลาดนัดเอกชน พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด เพื่อความเป็นระเบียบในพื้นที่ต่อไป 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดคลองใหม่ มีพื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ครูบุคลากรและนักเรียน 160 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะ โดยนำเศษอาหาร เศษผัก เศษผลไม้ มาทำน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล นำเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ตะกร้าจากกล่องนม ที่เหลาดินสอจากขวดน้ำพลาสติก นาฬิกาจากกล่องกระดาษ 3.ขยะทั่วไป ส่งเสริมการคัดแยกขยะทั่วไป ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 40 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 40 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 70 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0.5กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน 

 

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Country Group International School Bangkok ถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติพระรามที่ 3 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างจัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุก รถโม่ปูน และรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกโครงการ ล้างทำความสะอาดแผ่นเหล็กปูพื้นไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง ซึ่งเป็นแหล่งสะสมให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทการสะสมซีเมนต์ หิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน 

 

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี 

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200