กทม.ประสาน กฟน.เร่งปรับปรุงทางเท้าช่วงห้าแยกลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน หลังนำสายไฟลงดิน
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์สภาพทางเท้าถนนพหลโยธิน ช่วงห้าแยกลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธินชำรุดแตกหักว่า บริเวณถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ห้าแยกลาดพร้าว – แยกรัชโยธิน ขณะนี้อยู่ในพื้นที่การดำเนินการโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปัจจุบันงานวางท่อใต้ดินดำเนินการใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย กฟน.ได้กำหนดแผนจะเริ่มปรับปรุงทางเท้าใหม่ คืนสภาพถาวรให้เรียบร้อย สวยงาม ตั้งแต่เดือน ม.ค.67 ส่วนทางเท้าที่มีสภาพชำรุดแตกหัก อาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรไปมา สนย.จะได้ประสานแจ้ง กฟน.ตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ไขชั่วคราวให้เรียบร้อยโดยด่วนต่อไป
นอกจากนั้น สนย.ยังได้ประสานแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคให้เข้มงวดตรวจสอบถนนและทางเท้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในพื้นที่ผิวจราจรทุกโครงการ หากชำรุดเสียหาย หรืออาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่สัญจรให้เร่งรัดซ่อมแซมแก้ไขชั่วคราวให้เรียบร้อย ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ หน่วยงานสาธารณูปโภคจะต้องปรับปรุงผิวจราจรและทางเท้าใหม่ เพื่อคืนสภาพถาวรให้เรียบร้อยสวยงามและสามารถใช้งานได้ปกติโดยเร็ว
กทม.พิจารณาขยายสถานีดับเพลิงต่อเนื่องครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนตั้งข้อสังเกตสถานีดับเพลิง กทม.กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองชั้นใน ส่วนรอบนอกค่อนข้างมีน้อยว่า ปัจจุบัน กทม.มีสถานีดับเพลิงและกู้ภัย 48 แห่ง แบ่งเป็นสถานีดับเพลิงที่รับโอนมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามมติคณะรัฐมนตรีการถ่ายโอนภารกิจ จำนวน 35 สถานี เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นสถานีที่จัดตั้งขึ้นมาก่อน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชั้นใน พื้นที่เมือง และพื้นที่เขตอุตสาหกรรม ซึ่งพิจารณาจัดสร้างตามลักษณะการเจริญในอดีต และทั้งหมดจัดสร้างโดย สตช. ส่วนสถานีดับเพลิงอีก 13 สถานี จัดตั้งขึ้นในยุคที่ภารกิจด้านการดับเพลิงและกู้ภัยมาอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. แบ่งเป็นสถานีดับเพลิงหลัก 4 สถานี และสถานีดับเพลิงย่อย 9 สถานี
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร กทม.มีนโยบายให้จัดสร้างสถานีดับเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และดำเนินการตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล โดยพิจารณาขยายสถานีดับเพลิงด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ (1) มาตรฐานการเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่นักดับเพลิงและกู้ภัยต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที (2) ความชุกและสถิติการเกิดเหตุอัคคีภัยของแต่ละพื้นที่ และ (3) ความเสี่ยงและความล่อแหลมในการเกิดเหตุอัคคีภัยของพื้นที่ ซึ่งจากองค์ประกอบและปัจจัยจากข้อมูลการวิเคราะห์ดังกล่าว ทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่จะต้องมีสถานีดับเพลิงเพิ่มเติมเร่งด่วน ได้แก่ พื้นที่เขตบางบอน จอมทอง บางขุนเทียน ภาษีเจริญ จตุจักร ลาดพร้าว บึงกุ่ม บางเขน บางกะปิ คันนายาว ลาดกระบัง สวนหลวง บางนา และเขตดินแดง ซึ่งผู้บริหาร กทม.ได้ตระหนักและมีนโยบายให้ สปภ.จัดหาสถานที่ดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ กทม.มีนโยบายขยายสถานีดับเพลิงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีสถานีดับเพลิงครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ แต่การดำเนินการต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน หลักการ และมาตรฐาน เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
กทม.เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ 23 ธ.ค.66 – 22 ม.ค.67
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ว่า การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ หรือฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมือง พ.ศ.2562 ซึ่ง สวพ.ตระหนักถึงหลักการและความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยก่อนการจัดทำร่างผังเมืองรวมได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุมหลากหลายทุกกลุ่ม เช่น การประชุมร่วมกับกลุ่มจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพฯ การประชุมหารือแนวทาง วิธีการดำเนินการวาง และจัดทำผังเมืองรวมในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และประชาชน ในลักษณะกลุ่มย่อยด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการคมนาคมและการขนส่ง ด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการและบริการสาธารณะ ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านที่โล่ง นอกจากนี้ ยังได้จัดการประชุมปรึกษาหารือกับประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ กทม.มีร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ที่เป็นกรอบชี้นำการพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายการบริหารพื้นที่ของ กทม.ข้อเท็จจริง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคในพื้นที่ รวมทั้งสอดรับกับข้อคิดเห็นและความต้องการของประชาชนมากที่สุด
ขณะนี้ กทม.ได้จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดให้รับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ ป้ายประชาสัมพันธ์แบบเคลื่อนไหว รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ หนังสือราชการ หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ใบปลิว สื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น รวมทั้งปิดประกาศแสดงรายการเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนวันรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนไว้ที่ศาลาว่าการ กทม. สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่เว็บไซต์ของ สวพ. (webportal.bangkok.go.th/cpud) และเว็บไซต์ของโครงการวางและจัดทำผังเมืองกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) plan4bangkok.com
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถให้ความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ได้ โดยเข้าร่วมการประชุมในรูปแบบไฮบริด (Hybrid Meeting) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (On line) ร่วมกับการประชุมในสถานที่ (On Site) ในวันเสาร์ที่ 23 ธ.ค.66 ตามกลุ่มเขตต่าง ๆ ดังนี้ กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก ณ ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง สำนักงานเขตมีนบุรี กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง ณ ห้องบางกอก ชั้น บี 2 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. 2 เขตดินแดง กลุ่มเขตกรุงธนใต้ ณ ห้องประชุมเอกชัย 1 ชั้น 2 สำนักงานเขตบางบอน และในวันอาทิตย์ที่ 24 ธ.ค.66 ได้แก่ กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ณ ห้องประชุมเบญจจินดา โรงเรียนวัดหลักสี่ เขตหลักสี่ กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตบางพลัด และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ ณ ห้องประชุมชั้น 7 สำนักงานเขตคลองเตย จากนั้นจะจัดประชุมใหญ่ในวันเสาร์ที่ 6 ม.ค.67 ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชน กทม. (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง โดยประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาในวันที่มีการประชุม หรือแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ เพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งนี้ สามารถยื่นหนังสือได้ที่ สวพ.หรือส่งไปรษณีย์ หรือแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของ สวพ. (webportal.bangkok.go.th/cpud) ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 ธ.ค.66 จนถึงวันจันทร์ที่ 22 ม.ค.67
กทม.กำชับมาตรการความปลอดภัยการขับขี่รถเก็บขนมูลฝอย-ใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กรณีเกิดอุบัติเหตุรถเก็บขนมูลฝอยชนเสาโครงเหล็กกั้นความสูง เชิงสะพานข้ามแยกศรีพัฒน์ ถนนพัฒนาการขาออกว่า สสล.ได้ประสานสำนักงานเขตปทุมวันตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว พร้อมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง เพื่อซ่อมแซมรถให้กลับมาสภาพดีดังเดิม
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีรถเก็บขนมูลฝอย มากกว่า 2,000 คัน ปฏิบัติหน้าที่เก็บขยะทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่ง สสล.ตระหนักถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน จึงได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการขับขี่รถเก็บขนมูลฝอย โดยแจ้งสำนักงานเขตให้กำกับ ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถเก็บขนมูลฝอยให้ใช้ความเร็วของรถด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎจราจรที่กำหนดอย่างเคร่งครัด โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และกำชับให้ขับรถเก็บขนมูลฝอยต้องชิดช้ายเป็นสำคัญ ไม่พกพาสิ่งผิดกฎหมายติดตัว หรือมีครอบครองขณะปฏิบัติงานโดยเด็ดขาด รวมถึงตรวจสอบพฤติกรรมการใช้รถเก็บขนมูลฝอยอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ กรณีประชาชนพบเห็นเจ้าหน้าที่ขับรถไม่สุภาพ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรสามารถแจ้งเบาะแสผ่านระบบ Traffy Fondue
เขตปทุมวันเปลี่ยนฝาบ่อพักท่อระบายน้ำแก้ไขสิ่งกีดขวางทางเท้าในซอยร่วมฤดี
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีมีชาวต่างชาติเดินสะดุดล้มบนทางเท้าในซอยร่วมฤดีได้รับบาดเจ็บว่า สำนักงานเขตปทุมวัน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พร้อมทั้งสอบถามประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่ชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บว่า ได้รับการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลใด อีกทั้งได้ประสานสายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และโรงพยาบาลที่อยู่บริเวณใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่พบข้อมูลผู้บาดเจ็บแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ทราบชื่อและนามสกุลผู้บาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามเพื่อหาช่องทางการติดต่อผู้ได้รับบาดเจ็บ เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาต่อไป ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่บริเวณดังกล่าว พบฝาบ่อพักท่อระบายน้ำที่ซ่อมแซมชั่วคราวโดยนำคอนกรีตไปปรับแต่งให้เรียบตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ปัจจุบันสำนักงานเขตฯ ได้เปลี่ยนฝาบ่อพักท่อระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้น ยังพบตู้ควบคุมของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ทำให้กีดขวางทางสัญจร ขณะนี้อยู่ระหว่างประสาน กฟน.เพื่อดำเนินการแก้ไขสิ่งกีดขวาง ทางสัญจรต่อไป