
(15 ธ.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพระนคร ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ริมคลองหลอดวัดราชนัดดา ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับบริเวณดังกล่าว แบ่งเป็นพื้นที่ร้านค้าขนาด 2 x 2 เมตร ตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้ได้ 20 โต๊ะ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 ร้าน ประกอบด้วย ร้านอาหารที่ต้องมีท่อระบายอากาศ 19 ร้าน ร้านอาหารทั่วไป 12 ร้าน ร้านน้ำและขนม 12 ร้าน ร้านเบ็ดเตล็ด 8 ร้าน ร้านผักผลไม้และไข่ไก่ 9 ร้าน โดยมีพื้นที่สำหรับล้างอุปกรณ์รวมและอ่างล้างจานชนิด 3 หลุม พร้อมถังดักไขมันและตู้ควบคุมการจ่ายน้ำแบบหยอดเหรียญ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้ค้าในการจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center พร้อมทั้งให้คำแนะนำด้านสุขอนามัยแก่ผู้ค้าที่จำหน่ายอาหาร โดยการใส่ผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม กำหนดให้ผู้ค้างดทำการค้าทุกวันจันทร์ และให้ผู้ค้าร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่ดังกล่าว หากมีพื้นที่ว่างให้ดำเนินการย้ายผู้ค้าบริเวณถนนดินสอเข้ามารวมกับผู้ค้าใน Hawker Center เพื่อแก้ไขปัญหาร้องเรียนต่าง พร้อมทั้งให้ประสานกลุ่มงานอาคารสถานที่ สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร กำหนดจุดจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์บริเวณด้านข้างให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเขตฯ จะเริ่มดำเนินการตอกเข็ม Hawker Center ในวันที่ 12 มกราคม 2567 คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดพื้นที่ทำการค้าเต็มรูปแบบในวันที่ 1 เมษายน 2567
จากนั้นติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณท่าพระจันทร์ เขตฯ พื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 30 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 1,141 ราย สำหรับบริเวณท่าพระจันทร์ เป็นพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน ผู้ค้า 22 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งเขตฯ ได้จัดระเบียบผู้ค้ากำหนดขอบเขตในการตั้งวางสินค้าและอุปกรณ์ทำการค้าให้อยู่ในแนวรั้วเหล็กที่ตั้งวาง พร้อมทั้งนำป้ายไวนิลมาติดตั้งตามแนวรั้วเพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยุบรวมพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 9 จุด รวมผู้ค้า 150 ราย ได้แก่ 1.ถนนอัษฎางค์ ผู้ค้า 9 ราย 2.ซอยดำเนินกลางเหนือ ผู้ค้า 8 ราย 3.ถนนราชดำเนินกลาง (ข้างกองสลากเก่า) ผู้ค้า 7 ราย 4.ถนนพระสุเมรุ (ซอยกสิกรไทย) ผู้ค้า 9 ราย 5.ถนนดินสอ (หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา) ผู้ค้า 9 ราย 6.ท่าพระจันทร์ (บนลานท่าพระจันทร์) ผู้ค้า 22 ราย 7.ถนนมหาราช ผู้ค้า 50 ราย 8.ท่าเตียน ผู้ค้า 25 ราย และ 9.ข้างศูนย์เบนซ์ ผู้ค้า 11 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าหรืออุปกรณ์ทำการค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดหาสถานที่รองรับ หรือจัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ร้าน The Printing House Poshtel ถนนดินสอ จำนวนห้องพัก 12 ห้อง ห้องจัดเลี้ยง 2 ห้อง เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกและจัดเก็บเศษอาหารจากร้านอาหารและห้องจัดเลี้ยง 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะประเภทขวด ลังกระดาษ ให้ลุงซาเล้ง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถุงดำมัดปากถุงตั้งวางหน้าร้านหลังเวลา 19.00 น. 4.ขยะอันตราย ใส่ถุงดำมัดปากถุง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 9 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวนหย่อมเชิงสะพานพุทธยอดฟ้า (ลาน ร.1) สวนหย่อมสะพานพระปกเกล้า และสวนหย่อมไปรษณียาคาร ซึ่งเขตฯ มีแนวคิดในการเชื่อมพื้นที่ 3 สวนเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการออกกำลังกาย นั่งเล่นพักผ่อน และทำกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม ในการบริหารจัดการพื้นที่สวนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้และปรับปรุงพื้นที่ภายในสวนให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 งานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) บริเวณสถานีสามยอด ถนนมหาไชย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้างและทำความสะอาดถนนตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้างเป็นประจำ ฉีดพ่นละอองน้ำป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง คลุมผ้าใบรถบรรทุกที่ใช้ขนส่งวัสดุก่อสร้างดินทราย จัดให้มีสิ่งปกคลุมกองวัสดุที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองภายในพื้นที่โครงการ ดำเนินการก่อสร้างภายในพื้นที่บริเวณที่มีรั้วกั้นโดยรอบความสูง 2 เมตร ติดตั้งตาข่ายป้องกันวัสดุร่วงหล่นจากงานโครงสร้าง ซึ่งเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตพระนคร สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)