สำรวจที่ดินจัดเก็บภาษี ตรวจจุดเสี่ยงภัยย่านบางพลัด คุมเข้มค่าฝุ่นแพลนท์ปูนเอ็มคอนกรีต สำรวจถนนสวยสิรินธรและสวน 15 นาที จัดระเบียบผู้ค้าเชิงสะพานพระราม 8 ชมต้นแบบคัดแยกขยะชุมชนบ้านปูน
(15 ธ.ค.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย
ติดตามการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณทาวเฮ้าส์ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84/1 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 28,017 แปลง สำรวจแล้ว 15,187 แปลง คงเหลือ 12,830 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 32,482 แห่ง สำรวจแล้ว 16,099 คงเหลือ 16,383 ห้องชุด 26,138 สำรวจครบแล้วทั้งหมด สรุปผลการสำรวจภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 86,637 รายการ สำรวจแล้ว 57,424 รายการ คงเหลือ 29,213 รายการ อย่างไรก็ตามสภาพที่ดินในปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่จริง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่เขตฯ ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ตรวจจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม ซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 ทั้งนี้ เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม จำนวน 8 จุด ได้แก่ 1.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 89 แยก 12 (มีกล้อง CCTV) 2.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 95/1 3.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 วัดคฤหบดี 4.ซอยสุวิชาญดำริ (มีกล้อง CCTV) 5.ซอยอรุณอมรินทร์ 49 6.สะพานลอยหน้าโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์ (มีกล้อง CCTV) 7.ใต้สะพานพระราม 8 (มีกล้อง CCTV) 8.ถนนเลียบทางรถไฟ เขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไข โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสายตรวจดำเนินการตรวจตู้เขียว 3 ครั้ง/วัน/จุด (กลางวัน 2 รอบ กลางคืน 1 รอบ) และติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติม ซึ่งประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดจากตู้เขียวแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อป้องกันเหตุอาชญากรรม สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนบริเวณดังกล่าว
ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 บริษัท เอ็ม คอนกรีต จำกัด ถนนสิรินธร เขตฯ มีแผนตรวจสอบคุณภาพอากาศ ในโรงงานและสถานประกอบการในพื้นที่เชิงรุกและประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปี 2565 – 2566 เป็นประจำทุกเดือน ดังนี้ 1.เข้าไปตรวจสถานประกอบการปล่อยมลพิษของโรงงานว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดหรือไม่ 2.ออกคำแนะนำและคำสั่งให้แก้ไขการปล่อยมลพิษ ในกรณีที่สถานประกอบการมีการปล่อยมลพิษเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฝุ่นหนาแน่น 3.ดำเนินการทางกฎหมาย หรือประสานงานเพื่อเพิกถอนใบอนุญาต สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีการแก้ไขการปล่อยมลพิษให้ได้ตามมาตรฐาน 4.ประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมข้อมูลและพัฒนาฐานข้อมูลการปล่อยมลพิษภายในกทม. เพื่อติดตามข้อมูลการจัดการมลพิษในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แสดงผลข้อมูลมลพิษของโรงงานหรือสถานประกอบการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบและรับรู้ถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กผ่านสื่อต่างๆ ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ และพื้นที่โดยรอบไม่ให้มีน้ำปูนไหลออกไปนอกพื้นที่ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด
สำรวจถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต) ถนนสิรินธรติดต่อกับเขตตลิ่งชัน ระยะทาง 3,000 เมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยปลูกต้นไม้ ดังนี้ ต้นชาฮกเกี้ยน ต้นเฟื่องฟ้า ขนาดกระถาง 6 นิ้ว และ 15 นิ้ว ต้นประดู่ ต้นไทรเกาหลี ต้นข่อยดัด ต้นม่วงมงคล ต้นทองอุไร สำหรับสวน 15 นาที เขตฯ มีสวนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ จำนวน 3 สวน ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (วัดอาวุธฯ) 2.สวนหย่อมข้างวัดอมรคีรี 3.สวนหย่อมข้างวัดน้อยนางหงษ์ และสวนสาธารณะที่จะก่อสร้างใหม่ จำนวน 4 สวน ได้แก่ 1.ที่ว่างข้างหมวดทางหลวงตลิ่งชัน 2.ที่ว่างหน้าร้านสยามชัยปากซอยรุ่งประชา(ถนนบรมราชชนนี) 3.บ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร) 4.สวนหย่อมเอกชน (ข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก) ซึ่งเขตฯ จะประสานสำนักสิ่งแวดล้อม พิจารณาถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการปรับปรุงสวนทั้ง 4 แห่ง
ตรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณสะพานพระราม 8 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 84 ราย ได้แก่ 1.บริเวณสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ซอยอรุณอมรินทร์ 53 ถึงซอยอรุณอมรินทร์ 57 ผู้ค้า 46 ราย 2.หน้าวัดภคินีนาถ ตั้งแต่จุดกลับรถสะพานกรุงธน ถึงซอยราชวิถี 21 ผู้ค้า 14 ราย 3.บริเวณโรงพยาบาลยันฮี ตั้งแต่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 ถึงกลางซอยจรัญสนิทวงศ์ 92 ผู้ค้า 4 ราย 4.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ตั้งแต่ซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ผู้ค้า 6 ราย 5.หน้าตลาดกรุงธน ตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทยสาขาราชวิถี ถึงแยกบางพลัด ผู้ค้า 11 ราย และ 6.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ตั้งแต่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ถึงคลองบางยี่ขัน ผู้ค้า 3 ราย ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อให้ผู้ค้าทั้ง 6 จุด มาทำการค้าในจุดเดียวกัน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนบ้านปูน ลักษณะของชุมชนเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวและ 2 ชั้น มีเนื้อที่ 45 ไร่ เป็นที่ดินของเอกชน 4 ราย และส่วนหนึ่งของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมแนวสะพานพระราม 8 รูปแบบการคัดแยกขยะของประชาชนในชุมชน มี 2 แบบ คือ 1.นำมาฝากบ้านครูเชาวน์ ไว้หน้าชุมชนโดยแลกเปลี่ยนสิ่งของที่อยากได้ไป 2.ประชาชนในชุมชนคัดแยกไว้เองหน้าบ้านเพื่อรอจำหน่าย เนื่องจากชุมชนอยู่ติดสวนหย่อมพระราม 8 วิถีชีวิตคนในชุมชนจึงมีการขายของบริเวณสวนหย่อม ทำให้มีขยะรีไซเคิลที่สามารถเก็บนำมาจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก การบริการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนโดยใช้หลัก 3Rs การจัดการขยะมูลฝอย มีการจัดตั้งวางถังครบทั้ง 4 ประเภท ดังนี้ 1.ถังเขียว ขยะย่อยสลาย คือขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เศษใบไม้ ผักผลไม้ ก่อนดำเนินการโครงการจะส่งเขตเพื่อกำจัด หลังดำเนินการมีการจัดหาบ่อซีเมนต์เพื่อทำน้ำหมัก 2.ถังเหลือง ขยะรีไซเคิล คือวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น แก้ว กระดาษ กระป๋องเครื่องดื่ม พลาสติก ยางรถยนต์ กล่อง ก่อนดำเนินโครงการจัดจำหน่ายอย่างเดียว หลังดำเนินโครงการชุมชนปลอดขยะ มีการนำยางรถยนต์และขวดพลาสติกมาปลูกต้นไม้ 3.ถังส้ม ขยะอันตราย คือมูลฝอยที่ปนเปื้อนหรือมีองค์ประกอบของวัตถุอันตราย เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต หลอดไฟ ถ่ายไฟฉาย แบตเตอรี่ ชุมชนส่งเขตฯ นำไปกำจัด 4.ถังฟ้า ขยะทั่วไป คือขยะประเภทอื่นนอกเหนือจากข้างต้น เช่น ซองบะหมี่ ห่อพลาสติกขนม ชุมชนส่งเขตฯ นำไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 300 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 150 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะส่วนต่างที่ลดลง 0.83 กิโลกรัม/วัน เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2 ครั้ง/สัปดาห์
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวอารี เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนบ้านปูน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #ปลอดภัยดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)