Flag
Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤศจิกายน 2566

เขตพญาไทส่งดำเนินคดีสถานบันเทิงย่านอารีย์ฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต

นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากสถานบันเทิงย่านอารีย์ส่งเสียงดังรบกวนว่า สำนักงานเขตพญาไทตรวจสอบสถานบันเทิงดังกล่าว พบว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย.66 ร้านได้จัดการแสดงดนตรี เข้าข่ายการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทการจัดให้มีมหรสพ การแสดงดนตรี เต้นรำ รองเง็ง ดิสโกเทก คาราโกเกะ หรือตู้เพลง หรือการแสดงอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ซึ่งเป็นกิจการที่กำหนดให้ควบคุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 ในลักษณะที่เป็นการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น สำนักงานเขตฯ จึงได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้หยุดดำเนินกิจการ
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจติดตาม เมื่อวันที่ 22 พ.ย.66 ปรากฏว่า ผู้ประกอบการรายดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานและยังคงดำเนินกิจการ สำนักงานเขตฯ จึงดำเนินคดีกับผู้ประกอบการข้อหาการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการจัดให้มีมหรสพ การแสดงดนตรีฯ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องควบคุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ในลักษณะที่เป็นการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นความผิดตามมาตรา 33 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้เชิญผู้ประกอบการมาสอบข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบ และส่งดำเนินคดีฐานประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจติดตามอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 พ.ย.66 ปรากฏว่า ร้านได้ปิดให้บริการในวันดังกล่าวแล้ว ซึ่งจะได้ติดตามตรวจสอบ เพื่อควบคุมกำกับสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป

 

กทม.ประสานตำรวจกวดขันจับปรับไรเดอร์ทางเท้าซอยสุขุมวิท 26

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและระบุข้อความถนนในซอยสุขุมวิท 26 ทั้งทางเท้าและบนผิวจราจรมีไรเดอร์จำนวนมากจอดรถทั้งสองฝั่ง สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สัญจรอย่างมากว่า สำนักงานเขตคลองเตย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่ง มีประชาชนมารับประทานที่ร้านเต็มทุกที่นั่งและมีไรเดอร์จำนวนมากมารอรับอาหารที่สั่ง โดยจะจอดรถจักรยานยนต์บนผิวจราจร ขณะตรวจสอบไม่พบว่า มีการจอดรถบนทางเท้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานแจ้งเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวดังกล่าวทราบถึงปัญหาการจอดรถกีดขวางการสัญจรของไรเดอร์ พร้อมเสนอแนะให้ร้านจัดหาสถานที่บริเวณใกล้เคียง เพื่อเป็นที่จอดรถของไรเดอร์ ซึ่งเจ้าของร้านรับทราบและจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานแจ้งสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อให้กวดขันรถที่จอดกีดขวางการจราจรภายในซอยสุขุมวิท 26 พร้อมทั้งจะได้ตรวจสอบร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่เทศกิจ เพื่อกวดขันไม่ให้ไรเดอร์จอดรถกีดขวางการสัญจรของประชาชน

นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม. กล่าวว่า สนท.ได้ประสานสำนักงานเขตคลองเตยเพิ่มความเข้มงวดกวดขันจับ-ปรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าบริเวณสุขุมวิท 26 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ หากตรวจพบผู้ฝ่าฝืนกระทำความผิดให้จับกุมและดำเนินคดีทันที รวมทั้งประสานความร่วมมือจัดทำเสากั้นรถจักรยานขับขี่บนทางเท้าและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI ตรวจจับผู้กระทำผิดบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกัน สนท.ได้ดำเนินโครงการกวดขันรถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้า เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยให้สำนักงานเขตบังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้รถจอด หรือขับขี่บนทางเท้าโดยเด็ดขาด อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 และให้เจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตรา กวดขัน เฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำผิด และตั้งโต๊ะจับ-ปรับรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ จอด หรือขับขี่บนทางเท้าในบริเวณพื้นที่ที่มีผู้ฝ่าฝืนจำนวนมาก หรือในจุดซึ่งประชาชนร้องเรียนเป็นประจำ โดยให้พิจารณาดำเนินการในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาระหว่างเดือน ก.ค.61 – 8 พ.ย.66 สามารถกวดขันจับกุมผู้กระทำความผิดได้จำนวน 55,552 ราย เปรียบเทียบปรับ เป็นเงิน 62,257,700 บาท
นอกจากนั้น กทม.ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัทผู้ให้บริการรับ-ส่ง อาหารและสินค้า (Rider) เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า นำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจรอันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดย กทม.จะจัดส่งข้อมูลที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบ AI (Artificial Intelligence) ภาพผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า และอ่านหมายเลขป้ายทะเบียน พร้อมแยกประเภทของพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้า ตามลักษณะการแต่งกายที่ปรากฏตามภาพให้บริษัท เพื่อให้บริษัทตรวจสอบและกวดขัน กำกับ ดูแล หรือดำเนินการตามความเหมาะสมไม่ให้พนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้ากระทำผิดกฎหมายซ้ำอีก หรือดำเนินการตามมาตรการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาพนักงาน หรือคนรับ-ส่งอาหารและสินค้านำรถจักรยานยนต์มาขับขี่บนทางเท้า หรือฝ่าฝืนสัญญาณจราจร อันเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสังคมที่เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200