(24 พ.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการรีเจนท์โฮม วุฒากาศ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย จำนวน 2 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 37 ชั้น และอาคาร B ความสูง 38 ชั้น ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูน รถบรรทุก รถรับ-ส่งคนงานที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ โดยได้ใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้นเร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล สำหรับรถที่ตรวจวัดควันดำและมีค่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานจะได้รับสติ๊กเกอร์ติดบริเวณด้านหน้ารถ นอกจากนี้ ทางโครงการได้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณด้านหน้าโครงการ โดยเขตฯ ได้เปิดแอปพลิเคชัน AirBKK ตรวจสอบคุณภาพอากาศ พบว่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้มีค่าใกล้เคียงกับเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งอยู่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้ผู้ประกอบการปรับปรุงบ่อล้างล้อด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ โดยเปลี่ยนถ่ายน้ำที่เป็นดินโคลนออก พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 5 แห่ง ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 1 แห่ง ประเภทกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุธูป 1 แห่ง ประเภทอู่เคาะพ่นสียานยนต์ 8 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 3 แห่ง เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณใต้สะพานตลาดพลู เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม สำหรับ Hawker Center บริเวณใต้สะพานตลาดพลู จะรองรับผู้ค้าบริเวณหน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ที่จะย้ายเข้ามาทำการค้าในพื้นที่ด้านใน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำเป็น Hawker Center การบริหารจัดการพื้นที่ทั้งเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปา โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ พร้อมกันนี้ได้ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 74 ราย ได้แก่ 1.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้าคอนโด Whizdom ผู้ค้า 10 ราย 3.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 4.ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 36 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะดำเนินการยกเลิกหรือย้ายผู้ค้าเข้าพื้นที่ในจุดที่กำหนด จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย 2.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 215 ราย ได้แก่ 1.ตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 60 ราย ฝั่งขาออก 14 ราย รวมผู้ค้า 74 ราย 2.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า 40 ราย ฝั่งขาออก 26ราย รวมผู้ค้า 66 ราย 3.สี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก (ไทยช่วยไทย) ผู้ค้า 32 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงพิจารณายกเลิกจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ กำหนดหรือจัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
สำรวจสวน 15 นาที บริเวณพื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาที สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ภายในเวลา 15 นาที หรือระยะทาง 800 เมตร โดยจัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ได้แก่ ต้นประดู่บ้าน ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ต้นเฟื่องฟ้า ต้นไทรทอง ต้นชาฮกเกี้ยน เพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ โดยได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เขตฯ มีแนวคิดที่จะจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติม โดยขยายสวนเดิมออกไปทางด้านสถานีโพธิ์นิมิตร พัฒนาพื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ฝั่งธนบุรี โดยได้ออกแบบสวนเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสภาพพื้นที่ เพื่อจัดทำสวนในส่วนที่ต่อขยายออกไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ สาขาท่าพระ พื้นที่ 163,781.62 ตารางเมตร ประชากร 1,200 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ มีการคัดแยกเศษอาหารเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ โดยเขตฯ มารับนำไปกำจัดตามขั้นตอนหลังห้างฯ ปิดทำการ 2.ขยะรีไซเคิล ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยลูกค้านำขวดมาใส่เครื่องอัด เพื่อสะสมคะแนนนำไปแลกของสมนาคุณกับทางห้างฯ ที่ฝ่ายการตลาดส่วนกลางจัดกิจกรรม 3.ขยะทั่วไป มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บและคัดแยกขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตราย เขตฯ มารับนำไปทำลายทิ้งตามขั้นตอน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 4,800 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 14,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 4,900 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 264 ชิ้น/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 300 ชิ้น/เดือน
ในการนี้มี ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)