เล็งเปิด Hawker Center ตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ ชมคัดแยกขยะไซต์ก่อสร้าง AIA Connect คุมเข้มฝุ่นแพลนท์ปูนเอ็มคอนกรีต ส่องสวนพระราม 9 ซอย 11 ติดตามงานทะเบียนบัตร ระบบ BMA-TAX แยกขยะเขตห้วยขวาง

(14 พ.ย.66) เวลา 09.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ ซี่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย และตลาดเมืองไทยภัทร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย สำหรับ Hawker Center บริเวณตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00 น. เป็นต้นไป มีสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ไฟฟ้า ประปา กล้องวงจรปิด ห้องน้ำ และที่ล้างภาชนะ จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำเป็น Hawker Center โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับพื้นที่ทำการค้าในจุดที่มีผู้ค้าน้อยราย ให้พิจารณาหาแนวทางยุบรวมเป็นจุดเดียวกัน หรือย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 16 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 183 ราย ดังนี้ 1.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 15 ราย 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT รัชดาภิเษก ผู้ค้า 6 ราย 3.ถนนสุทธิสาร ปากซอยอุดมสุข ผู้ค้า 12 ราย 4.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร ผู้ค้า 28 ราย 5.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/ไทยภัทร ผู้ค้า 7 ราย 6.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT ห้วยขวาง ผู้ค้า 5 ราย 7.ถนนพระราม 9 ซอย 5 ผู้ค้า 6 ราย 8.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 8 ราย 10.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 8 ราย 11.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 8 ราย 12.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคาร MSIG ผู้ค้า 5 ราย 13.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 13 ราย 14.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 19 ราย 15.ถนนเทียมร่วมมิตร (ขาออก) ผู้ค้า 7 ราย และ 16.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 28 ราย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะภายในโครงการก่อสร้าง อาคาร AIA Connect (บริษัทไทยโอบายาชิ) พื้นที่ 13,145 ตารางเมตร ประชากร 400 คน เข้าร่วมโครงการการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกและนำไปใส่เครื่องผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพและก๊าซชีวภาพ (Cowtec) ได้ผลผลิตเป็นน้ำปุ๋ยชีวภาพและก๊าซชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลตามประเภท บริจาคให้องค์กรภาครัฐหรือเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนที่เหลือนำไปขายร้านรับซื้อวัสดุรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป คัดแยกและประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บในทุกวัน 4.ขยะอันตราย บางส่วนผู้รับเหมานำไปจัดทิ้งกับบริษัทตนเอง ในส่วนของหน่วยงานมีมาตรฐานในการจัดทิ้ง โดยเก็บรวบรวมให้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม และจัดส่งไปยังสโตร์จัดเก็บบริษัท เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะเดือนตุลาคม 2566 ดังนี้ ขยะทั่วไป 600 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 710 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ 820 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายอยู่ระหว่างเก็บรวบรวม

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท เอ็มคอนกรีต จำกัด ถนนพระราม 9 (แพลนท์ปูนเอ็มคอนกรีต) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีต ป้องกันไม่ให้มีน้ำปูนหรือเศษปูนที่ตกตะกอนล้นออกมานอกบ่อ ทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษปูนเศษหินเศษทรายตกค้าง ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทแพลนท์ปูน 14 แห่ง ประเภทอู่พ่นสี 16 แห่ง ประเภทโรงงาน 1 แห่ง ประเภทเตาเผาศพ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

สำรวจสวน 15 นาที บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 9 ถนนพระราม 9 ซอย 11 เขตฯ ดำเนินการจัดทำสวน 15 นาที จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 873 ตารางเมตร ได้รับการสนับสนุนจากเอกชนให้ใช้พื้นที่ โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้น ปูหญ้า จัดทำแปลงไม้ดอกไม้ประดับ ปูทางเดินออกกำลังกาย 2.สวนป่าใต้ทางด่วนถนนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 12,444 ตารางเมตร ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้น ปูหญ้า ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ 3.สวนใต้ทางด่วนพระราม 9 ถนนพระราม 9 ซอย 11 ประสานใช้พื้นที่จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการปรับปรุงพื้นที่ให้มีความสวยงามเหมาะสมกับการใช้งาน

ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตห้วยขวาง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน หากชำรุดเสียหายให้จัดหาเครื่องใหม่มาทดแทน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการ

จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ โดยได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามกรอบเป้าหมายที่กำหนด เขตฯ มีที่ดิน 26,796 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,381 แห่ง ห้องชุด 58,662 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 113,839 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในสำนักงานเขตห้วยขวาง มีข้าราชการและบุคลากร 708 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมรณรงค์การจัดการขยะที่ต้นทาง ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่คัดแยกขยะรีไซเคิลก่อนนำไปทิ้ง แม่บ้านคัดแยกและรวบรวมขยะที่ขายได้ เพื่อขายในแต่ละเดือน 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังขยะเพื่อรองรับขยะเศษอาหารของแต่ละฝ่าย เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน โดยมีเกษตรกรรับไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย มีจุดทิ้งขยะอันตรายในอาคารเขตฯ รวบรวมไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 4.ขยะทั่วไป มีจุดรองรับขยะทั่วไปในแต่ละชั้นของเขตฯ แม่บ้านนำขยะไปทิ้งตามจุดรองรับขยะทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 435 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 10กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/เดือน

ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) บริเวณชั้น 3 สำนักงานเขตห้วยขวาง ซึ่งทำหน้าที่ในการป้องกันมลพิษจากแหล่งกำเนิดต้นทางและทางบ้าน รวมถึงเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงทางการแพทย์และสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่

ในการนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายไพฑูรย์ งามมุข ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200