(7 ธ.ค.65) นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับรายการสนามข่าว 101 ถึงประเด็น “การลงพื้นที่ของผู้ว่าฯกทม.เป็นการไปรับฟังปัญหาและส่งต่อให้ทีมบุคลากรทั้ง กทม.ประมาณ 88,000 คน ร่วมกันแก้ไขและหลังจากนั้นผู้ว่าฯ ก็เป็นคนไปรับ feedback กลับมาพัฒนางาน ดังนั้นจึงเป็นการทำงานที่เป็นวงกลม” ว่า จากผลของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “6 เดือนผู้ว่าฯ ชัชชาติ” กับการทำงาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-30 พฤศจิกายน 2565 จำนวน 1,500 หน่วย โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0 พบว่าคนค่อนข้างพอใจ ร้อยละ 42.60 พอใจมาก ร้อยละ 38.93 ไม่ค่อยพอใจ ร้อยละ 10.54 และไม่พอใจเลย ร้อยละ 7.93
โพลของผลงาน 6 เดือนจึงเป็นที่น่าพอใจ เพราะคนกรุงเทพฯกว่า 80% มีความพึงพอใจ โดยผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้เสนอเองว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้ประชาชนไว้ใจเราให้ได้ ถ้าประชาชนไม่ไว้ใจเราจะไม่สามารถไปต่อได้ เขาจะเลือกเราหรือไม่เลือกไม่เป็นไรแต่ต้องไว้ใจเรา ซึ่งเราต้องแสดงความโปร่งใสในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อทำลายความไม่ไว้วางใจ และนั่นคือที่มาของ Traffy Fondue ซึ่งคนที่แจ้งเรื่องไม่จำเป็นต้องรู้จักผู้บริหารกทม.หรือผอ. เขต หรือข้าราชการแต่ สามารถแจ้งเข้าระบบดิจิตอลเข้าไปแล้วระบบหลังบ้านจะดำเนินเรื่องตามความคืบหน้าให้คุณเอง และนี่คือการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่า กทม.สามารถตอบสนองอะไรบางอย่างได้
ทั้งนี้ ระบบ Traffy Fondue เป็นระบบ AI ที่ไม่สามารถโกหกได้ ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนจะตรงไปที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที และมีผู้บริหารส่วนกลางคือผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้กำกับดูแล รวมถึงสวทช.ที่ดูแลเรื่องระบบดังกล่าว รวมถึงมีการติดตามผลการดำเนินการโดยผู้บริหารกรุงเทพมหานครระดับสูง เช่น รองปลัดกทม. และผอ.สำนัก ที่กำกับดูแลควบคุมกรุงเทพฯโซนต่าง ๆ 6 โซน ซึ่งเรื่องร้องเรียนที่ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขภายใน 3 -7 วัน หากเรื่องดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าและได้รับการแก้ไขภายใน 15 วัน จะมีการทวงถามผลดำเนินการและหากไม่มีผลการดำเนินการภายใน 1 เดือนจะแจ้งไปที่ปลัดกรุงเทพมหานคร โดยขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนในระบบทั้งสิ้นประมาณ 180,000 เรื่องแก้ไขไปแล้วประมาณ 130,000 เรื่อง อยู่ระหว่างติดตามเรื่องอีกประมาณ 50,000 เรื่อง ซึ่งระบบ Traffy Fondue สามารถทำลายระบบราชการแบบเก่าที่ล่าช้า สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนใช้ระบบนี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาบางปัญหาที่เคยร้องเรียนกว่า 10 ปีแล้วไม่มีความคืบหน้าได้
สำหรับในส่วนของการที่ผู้ว่าฯกทม.และผู้บริหารกทม.ลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนเพื่อสอบถามปัญหานั้น บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการสร้างอีเว้นท์ เป็นการสร้างภาพ แต่อยากจะบอกว่าไม่เคยมีผู้บริหารท่านใดที่ลงพื้นที่ในลักษณะนี้ซึ่งเหนื่อยมากและใช้เวลามาก จึงมีการมอบอำนาจให้รองผู้ว่าราชการทั้ง 4 คน รวมถึงทีมผู้บริหารฝ่ายการเมือง ลงพื้นที่เพื่อดูแลปัญหาด้านต่าง ๆที่ได้รับมอบหมาย จึงทำให้ผู้ว่าฯกทม. มีเวลามากขึ้นเพื่อไปดูแลเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้ยังได้มอบหมายภารกิจให้ข้าราชการประจำ 24,000 คน ข้าราชการครู 16,000 คน ลูกจ้างประจำ 32,000 คน ลูกจ้างชั่วคราว 16,000 คนรวมทั้งสิ้น 88,000 คน ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งผลงานการปฏิบัติจะนำไปสู่ประชาชน กว่า 10 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯที่จะได้รับประโยชน์ แล้วผู้ว่าฯ กทม.ก็จะลงพื้นที่อีกเพื่อสำรวจ feedback จากประชาชน 10 ล้านคนว่ามีความพึงพอใจหรือไม่การทำงานก็จะเป็นวงกลมในลักษณะนี้
สำหรับในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่หลายคนสงสัยนั้นเป็นเรื่องที่เกินอำนาจของ กทม. ซึ่ง กทม. ก็ดำเนินการครบถ้วนตามระบบแล้วไม่ว่าจะเป็นการผ่าน สภากทม. รัฐสภา ครม. โดยให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ตรวจสอบตามอำนาจทั้งหมดที่กทม.มีครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ กทม.ทำได้เราได้ทำทั้งหมดแล้ว โดยขอให้ ครม. สั่งมาว่าอยากให้กทม.ทำในรูปแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นระบบร่วมทุนที่มีความโปร่งใสหรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งงบประมาณของ กทม.มีพร้อมรองรับค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว รอเพียงความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการเท่านั้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาพอสมควร
ส่วนในเรื่องของการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น รองผู้ว่าฯ กทม.วิษณุ ได้ประสานงานกับ NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่สามารถนำลงใต้ดินไปกับสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง อีกส่วนคือการจัดระเบียบสายสื่อสารซึ่งเรื่องทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากกทม.ไม่ได้มีอำนาจเต็มทางด้านนี้ผู้ที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องคือกสทช. ซึ่งหาก กสทช.สั่งการมา กทม.ยินดีที่จะดำเนินการทั้งหมด เพราะฉะนั้นในขณะนี้ กทม. ได้ดำเนินการทุกอย่างไปจนสุดอำนาจที่สามารถทำได้แล้ว และได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกฝ่ายภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา