(3 พ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตพญาไท ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ (บริเวณหน้าอาคาร 10) ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ประสานหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ รวมถึงสำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับ Hawker Center บริเวณดังกล่าว เขตฯ ได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย สำหรับจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย กำหนดจัดกิจกรรมเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 วัน (สัปดาห์เว้นสัปดาห์) นอกจากนี้เขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย สำหรับจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด กำหนดจัดกิจกรรมเดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2-3 วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center เพิ่มเติม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคาร Noble ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ความสูง 42 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร และอาคารจอดรถ ความสูง 7 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boilers) 2 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทโรงงานจำพวก 3 (ผลิตยา) 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างจัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นด้านหน้าโครงการไม่ให้มีเศษปูนเศษหินดินทรายตกค้าง ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์การค้า Big C สาขาสะพานควาย พื้นที่ 9,958 ตารางเมตร ประชากร 300 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แต่ละร้านจัดเตรียมภาชนะรองรับเศษอาหาร นำขยะเศษอาหารมาเทรวมใส่ถังขยะเศษอาหาร 300 ลิตร ที่ทางศูนย์การค้าจัดเตรียมไว้ จะมีผู้มารับเศษอาหารนี้ไปใช้เลี้ยงสัตว์ 1 รอบ/สัปดาห์ ส่วนเศษอาหารที่เหลือจากการตัดแต่ง เพื่อการประกอบอาหาร แยกใส่ถังขยะเศษอาหารที่จัดเตรียมไว้ แม่บ้านนำถังขยะเศษอาหารมาพักในห้องพักขยะของศูนย์การค้า เพื่อรอการจัดเก็บจากเขตฯ 2.ขยะรีไซเคิล ผู้ค้าแยกใส่ถุงรวมรวบนำมาวางในห้องพักขยะของศูนย์การค้า สำหรับประชาชนผู้มาใช้บริการ ทางศูนย์การค้าได้จัดเตรียมถังและคอกขยะรีไซเคิล แม่บ้านรวบรวมไปวางในห้องพักขยะของศูนย์การค้า ส่วนกระดาษและพลาสติกยืด แม่บ้านเก็บรวบรวมนำมาไว้ที่ห้องเก็บกระดาษและพลาสติกด้านหลังศูนย์การค้า เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ 3.ขยะทั่วไป ทิ้งขยะทั่วไปใส่ถุงดำที่ทางศูนย์การค้าจัดไว้ แม่บ้านนำถุงดำที่ใส่ขยะทั่วไป ลงไปทิ้งบริเวณห้องพักขยะของศูนย์การค้า เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย จะเก็บรวบรวมไว้ เขตฯ จัดเก็บทุกวันเสาร์พร้อมกับขยะทั่วไป สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 830 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 70 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน
สำรวจสวน 15 นาที สวนอินทามระ 14 เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาทีแห่งใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนอินทามระ 14 พื้นที่ 1 งาน โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกต้นไม้ ปูหญ้า ทำทางเดิน จัดวางชุดโต๊ะสนาม 2.สวนหย่อมร่วมมิตร พื้นที่ 3 งาน 47 ตารางเมตร จัดทำทางเดินออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม นอกจากนี้เขตฯ มีสวนเดิมที่ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความร่มรื่นสวยงาม จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพญาไทภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่ 2.สวนอารีสัมพันธ์ พื้นที่ 9 ไร่ ทั้งนี้เขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และลานออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ภายใน 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพญาไท ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางรวบรัดขั้นตอนการทำงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนได้รับความสะดวดและรวดเร็ว จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 16,004 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 22,696 แห่ง ห้องชุด 22,583 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 61,283 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว โดยได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ เขตพญาไท มีข้าราชการและบุคลากร 346 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นนำขยะเศษอาหารใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้เรียบร้อย ใส่ในถังพักขยะเศษอาหาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จะนำขยะเศษอาหารใส่ในเครื่องกำจัดเศษอาหารตามรอบเวลา โดยใน 1 วัน จะใส่เศษอาหารไม่เกิน 5 กิโลกรัม เครื่องกำจัดเศษอาหารจะเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์จะหยุดใส่เศษอาหารลงในเครื่อง โดยนำปุ๋ยเศษอาหารจากในเครื่องออกมาใส่ถุง พร้อมทำความสะอาดเครื่อง และเริ่มนำเศษอาหารใส่เครื่องใหม่ในวันจันทร์ 2.ขยะไซเคิล แต่ละฝ่ายจัดกิจกรรม 5 ส. ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เก็บขยะรีไซเคิลจากฝ่ายต่างๆ ส่วนขวดน้ำพลาสติก จะนำมาทิ้งที่คอกรับขวดน้ำ 3.ขยะอันตราย ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บพร้อมกับขยะทั่วไป 4.ขยะทั่วไป ทิ้งในถุงดำที่จัดเตรียมไว้ แม่บ้านจะนำถุงดำที่ใส่ขยะทั่วไป ลงไปทิ้งบริเวณจุดที่กำหนด ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,271 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 990 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 120 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 150 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายพัลลภ ไพฑูรย์บัวทอง ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพญาไท สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)