(31 ต.ค.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และผ่านระบบออนไลน์
สำหรับการประชุมในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงตามคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบในการดำเนินการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานครประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
โดยที่ประชุมเสนอกรอบการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร (Risk Management Framework) กรอบ/หลักคิดในการทบทวนทะเบียนความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานครรวมถึงการให้น้ำหนักกับประเด็นความเสี่ยงในแต่ละเรื่อง จะพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งมิติของความเป็นเมืองกรุงเทพ (Bangkok) และมิติขององค์กรกรุงเทพมหานคร (BMA) โดยพิจารณาภายใต้กรอบความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน “ESG” ซึ่งหมายถึง สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาล (Governance) แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกมนุษย์ มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ได้ตั้งอยู่เดี่ยว ๆ โดยไม่สร้างผลกระทบต่อโลกภายนอก
ด้านผู้ทรงคุณวุฒิได้แนะนำถึงวิธีการ หลักการในการจัดทำกรอบการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร ภายใต้กรอบความเสี่ยงด้านความยั่งยืนที่ถูกต้อง เพราะความยั่งยืนสามารถพิจารณาจาก 2 มุม คือ มุมความเสี่ยงโดยปกติ หากนำ กทม. เป็นศูนย์กลางจะดูว่าโลกมีความเสี่ยงอะไรต่อ กทม. บ้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แรงงาน การเงิน เป็นต้น แต่อีกมุมหนึ่งต้องพิจารณาว่า กทม. เองนั้น มีและเป็นความเสี่ยงในเรื่องใดบ้างต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะต้องทบทวนกระบวนการการทำงานตั้งแต่ต้นอีกครั้ง เพื่อวางกรอบแนวทางที่ถูกต้องนำไปสู่การปรับเป็นวัฒนธรรมองค์กรครอบคลุมในทุกมิติ
ทั้งนี้ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลในฐานะฝ่ายเลขานุการจะดำเนินการลงรายละเอียดในกรอบ ESG (Environment, Social, Governance) วิเคราะห์ในส่วน input output ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำกรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างยั่งยืนในอนาคต และจะจัดการอบรมเพื่อชี้แจงความเข้าใจในเรื่องกรอบการบริหารความเสี่ยงระดับกรุงเทพมหานคร รวมถึงเรื่อง ESG ให้ตรงกัน ให้กับหน่วยงานเจ้าของความเสี่ยง (Risk owner) เพื่อให้หน่วยงานเจ้าของความเสี่ยงทําความเข้าใจข้อมูลของความเสี่ยงในลักษณะต่างๆ และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความเข้าใจที่ตรงกันอย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการกําหนดแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง สามารถนําไปวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงและจัดทําเป็นทะเบียนความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง
ในการนี้มี ผู้แทนสำนักการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักงาน ก.ก. และผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานภายนอก เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
————————————-