วันที่ 14 ตุลาคม 2566
นายวัลลภ เกียรติวรศรีกุล ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ พร้อมด้วย นายเพ็ชร ภุมมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขต คณะหัวหน้าฝ่าย/เจ้าหน้าที่เขต คณะกรรมการการจัดงานเจเยาวราชฯ คณะกรรมการวัดโลกานุเคราะห์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีแห่อัญเชิญเทพเจ้า “กิวอ๋อง ฮุกโจ้ว เต้าบ้อเนี้ย น่ำซิ้ง ปั๊กเต้าแชกุง” ทั้ง 12 องค์บนเกี้ยว ตั้งแต่วัดโลกานุเคราะห์ ไปประดิษฐานยังมณฑลพิธีประเพณีงานเจเยาวราชณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 60 รอบพระชนมพรรษา พร้อมเปิดมณฑลพิธี (ไคตั๊ว) เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมกราบไหว้สักการะขอพร ในช่วงเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 ตลอด 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 – 23 ต.ค. 66 ณ บริเวณซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 60 รอบพระชนมพรรษา
โดยในตำนานความเชื่อหนึ่ง “กิวอ๋อง” คือการอวตารของพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ ซึ่งทั้ง 9 พระองค์นี้ทรงเครื่องเบบกษัตริย์ จึงได้รับการขนานพระนามว่า “เก้าอ๊วง” หรือ “กิวอ๊วง” จากนั้นทรงแบ่งภาคของการเป็นเทพเจ้าลงมาเป็นดาวนพเคราะห์ 9 ดวง (นพราชา) เพื่อบริหารธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และทอง ได้แก่
– พระอาทิตย์ หรือไท้เอี้ยงแช (พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ)
– พระจันทร์ หรือไท้อิมแช (พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ)
– ดาวอังคาร หรือฮวยแช (พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ)
– ดาวพุธ หรือจุ้ยแช (พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ)
– ดาวพฤหัสบดี หรือบักแช (พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ)
– ดาวศุกร์ หรือกิมแช (พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ)
– ดาวเสาร์ หรือโท้วแช (พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ)
– ดาวเกตุ หรือโกยโต้วแช (พระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์)
– ดาวราหู หรือล่อเกาแช (พระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์)
ซึ่งดวงดาวทั้ง 9 นี้คือต้นกำเนิดของจักราศีในทางโหราศาสตร์ โดยการหมุนของดวงดาวทั้ง 9 ในแต่ละวันจะส่งผลต่อคนและโลกเรา และในวันที่ 1-9 เดือน 9 ของทุกๆปี (ตามปฏิทินจีน) เทพเจ้าแห่งดวงดาวจะผลัดกันลงมาให้พรผู้ที่ประพฤติดีบนโลกมนุษย์องค์ละวัน ในช่วงนี้มนุษย์โลกก็จะถือศีลกินเจเพื่อเป็นการสักการะบูชากิวอ๋อง ฮุกโจ้ว