Search
Close this search box.
ระบบเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินช่องทาง กทม. พร้อมใช้ในปีหน้า เดินหน้าเป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว

(10 ต.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักงานการต่างประเทศ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้การต้อนรับ Ms. Mami Mizutori ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disaster Risk Reduction) หรือ UNDRR และ Mr. Marco Toscano-Rivalta ผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNDRR Regional Office for Asia and the Pacific) พร้อมด้วยผู้แทนจาก UNDRR เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น และหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับ UNDRR

โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวถึงเมืองแห่งความหยุ่นตัวในบริบทของกรุงเทพมหานคร ว่า คือความปลอดภัยในทุกมิติ โดยมองแบ่งออกเป็นในระดับใหญ่ คือระบบและการดำเนินการต่าง ๆ ของเมืองในการรับมือกับภัยพิบัติ ส่วนระดับเล็กๆ คือชีวิตความเป็นอยู่ของปัจเจกบุคคล ปัญหา Covid-19 ทำให้หลายคนประสบปัญหาในด้านต่าง ๆ บางคนกลายเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งกรุงเทพมหานครต้องการช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้เขาสามารถกลับมามีชีวิตและสุขภาพที่ดี และสามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ในที่สุด เป็นหน้าที่ของ กทม. ในการสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงโครงการ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กับกลุ่มเปราะบาง ในบริบทของ กทม. วัดจะมีบทบาทมากในการสร้างความยืดหยุ่นเหล่านี้ เป็นการแจกอาหารส่วนเกินจากการทำบุญให้กลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน เพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนและเมืองที่มีความหยุ่นตัว

“ถ้ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความหยุ่นตัวก็จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน และความหยุ่นตัวเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง ซึ่งจะตอบกับนโยบายกรุงเทพเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการดำเนินการในด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นเมืองแห่งความหยุ่นตัว และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เข้าร่วมเครือข่าย UNESCO creative city, Healthy City Network, การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของ Climate Change, SDGs และ Resilience ให้กับประชาชน สำหรับระบบเตือนภัยของกรุงเทพมหานคร ภายในปีงบประมาณนี้จะสามารถแจ้งเตือนโดยตรงทางโทรศัพท์มือถือต่อประชาชนในกรณีเหตุการณ์ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน การแจ้งเตือนทาง Line Alert และ Line OA และกำลังพัฒนา Traffy Fondue Plus ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรับข้อมูลบริเวณสถานที่พักอาศัยหรือที่ทำงานของตน โดยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีการแจ้งเตือนและให้ข้อมูลเรื่อง PM2.5 ฝน และน้ำท่วม

ทั้งนี้ สำนักงานของ UNDRR ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ดำเนินงานในการส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีความหยุ่นตัว (Resilience City) ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติ โดยทำงานร่วมกับเมืองและรัฐบาลระดับท้องถิ่น ซึ่งกทม. เข้าร่วมเครือข่าย Making Cities Resilient 2030 (MCR2030) ซึ่งดำเนินการโดย UNDRR และได้ทำการประเมินเบื้องต้นด้านความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของเมือง (Preliminary Assessment – Disaster Resilience Scorecard for cities) โดยวันนี้การเข้าหารือก็เพื่อต้องการที่จะแชร์ประสบการณ์ของ UNDRR และเรียนรู้การดำเนินงานในด้านนี้ของกทม. และ UNDRR พร้อมที่จะสนับสนุนกทม. ในด้านต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรของกรุงเทพมหานคร เครื่องมือต่าง ๆ ในการประเมินความหยุ่นตัวต่อภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งได้เชิญกทม. เข้าร่วม Global Resilience Forum ซึ่งจะจัดขึ้นที่ดูไบ โดยมีผู้เข้าร่วมคือ เมืองที่ได้รับการเลือกให้เป็น Resilience Hub เผยแพร่ข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการสร้างความหยุ่นตัวให้กับเมือง
——–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200