(9 ต.ค.66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตทวีวัฒนา เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
สำรวจสวน 15 นาที ทวีวัฒนา ริมถนนอุทยาน พื้นที่ 8,798 ตารางเมตร ซึ่งเขตฯ ได้รับมอบพื้นที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ โดยประสานสำนักการโยธาขุดบ่อแหล่งน้ำภายในสวน พร้อมทั้งปรับระดับพื้นดินให้มีความเหมาะสม สร้างศาลาที่พักภายในสวน 3 หลัง รวมถึงได้รับการสนับสนุนต้นไม้จากภาคเอกชนและประชาชน ต่อมาเขตฯ ได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่ จัดวางขอบคันหินกับทางเดินเท้าภายในสวน และปูสนามหญ้า คาดว่าพื้นที่ด้านบ่อน้ำ 2,400 ตารางเมตร ทั้งนี้ สวน 15 นาที ทวีวัฒนา มีพื้นที่เชื่อมต่อกับศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคกหนองนา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน มีบ่อเลี้ยงปลา มีคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำในบ่อไปหล่อเลี้ยงแปลงนา มีแปลงข้าวโพด แปลงผักอินทรีย์ชนิดต่างๆ โรงเรือนเพาะเลี้ยงไก่ไข่ และเป็ดไข่ โรงเรือนเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่างๆ บ่อซีเมนต์สาธิตการเลี้ยงหอยขม กุ้งฝอย และปูนา พื้นที่ปลูกไม้เบญจพรรณชนิดต่างๆ เช่น ยางนา ประดู่ พะยูง พะยอม มะฮอกกานี แคนา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชในท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืช คือ ต้นจันอิน ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณหายากที่ปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นไม้ผลที่มีลักษณะเฉพาะ โดยต้นเดียวกันสามารถออกผลได้ 2 แบบ ผลลูกกลมป้อมขนาดใหญ่เรียกว่าลูกอิน ผลลูกแบนและแป้นขนาดเล็กเรียกว่าลูกจัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 59,124 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 34,287 แห่ง ห้องชุด 320 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 93,731 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับระบบต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตทวีวัฒนา ภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ไม่รวมเวลารอคอย ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ เขตทวีวัฒนา มีข้าราชการและบุคลากร 742 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดรับขยะพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว จุดรับขวดพลาสติกตามโครงการมือวิเศษ เพื่อพี่ไม้กวาด จุดรับถุงพลาสติกยืด (สะอาด) ตามโครงการ “วน” และจุดรับขยะกำพร้า 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งภาชนะรองรับมูลฝอยอินทรีย์ตามโครงการไม่เทรวม เก็บรวบรวมนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ และรวบรวมส่งไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย ตั้งภาชนะรองรับขยะอันตราย และจุดรวบรวมขยะอันตราย เพื่อรวบรวมนำส่งสำนักสิ่งแวดล้อม ตั้งภาชนะรองรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว 4.ขยะทั่วไป ตั้งภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปภายในอาคาร และภายนอกอาคาร สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 168 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 134 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะชุมชนบ้านจัดสรรสกุลทิพย์ วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แต่ละบ้านคัดแยกขยะ บางส่วนนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนที่เหลือเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละบ้านคัดแยก นำไปขายเป็นรายได้เสริม 3.ขยะทั่วไป และ 4.ขยะอันตราย แต่บ้านคัดแยก เขตฯ นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
สำรวจพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าหมู่บ้านกรีนวิลล์ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 69 ราย ได้แก่ บริเวณหน้าหมู่บ้านกรีนวิลล์ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00 – 11.00 น. และบริเวณหน้าวัดศาลาแดง ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00 – 09.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาจัดหาพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
ในการนี้มี นางกฤติมา นิ่มน้อย ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา ร่วมลงพื้นที่และร่วมให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)