(3 ต.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการจัดงาน “เทศกาลกรุงเทพกลางแปลง” ปี 2566 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเกียรติการแถลงข่าว ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาเราจัดเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงในช่วงฤดูฝนซึ่งอาจมีอุปสรรคในการฉายบ้าง ปีนี้จึงเลี่ยงมาจัดในเดือนตุลาคมโดยดูสถานที่ฉายหลาย ๆ แห่ง มีทั้ง indoor และ outdoor ซึ่งเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงนี้อยู่ในนโยบาย 12 เดือน 12 เทศกาล อีกเรื่องหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ BFMCC (Bangkok Film Making Coordinator Center) ศูนย์ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ One Stop Service ในการขอถ่ายทำ ต้องบอกว่าทุกการจัดงานเทศกาลไม่ใช่แค่การนันทนาการเท่านั้น แต่เป็นการทำความเข้าใจอุตสาหกรรมด้วย ภาพยนตร์เป็นอุตสาหกรรมที่มีคนอยู่หลังฉากเยอะมาก ไม่ใช่แค่คนที่เป็นนักแสดง แต่มีทีมงานเบื้องหลังที่อยู่ในสายการผลิตอีกเป็นพันเป็นหมื่นคน pain point ใหญ่ที่เราพยายามแก้ไขในปีที่แล้วคือเรื่องสถานที่ถ่ายทำซึ่งเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกทม. ต้องบอกว่าเป็นวิวัฒนาการ ที่เกิดจากการที่เราได้จัดเทศกาลและต่อยอดมาสู่ One Stop Service
“นี่คือก้าวแรกของกทม. ต้องขอขอบคุณทางสมาคมผู้กับกับภาพยนตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้คงไม่ใช่มีแค่เรื่อง One Stop Service อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์คงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการจัดงานเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงในครั้งนี้ ที่หวังให้ชาวกรุงเทพฯ มีความสุข รวมถึงคนในวงการภาพยนตร์ด้วย” รองผู้ว่าฯ ศานนท์กล่าว
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และสมาคมหนังกลางแปลงแห่งประเทศไทย จัดงานเทศกาล “กรุงเทพกลางแปลง” ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2566 กับ 6 สุดสัปดาห์ 7 สถานที่ หนัง 22 เรื่อง โดยมีตารางฉายหนังดังนี้
7-8 ตุลาคม 2566 สถานที่ หัวลำโพง โดยวันที่ 7 ต.ค. ฉายเรื่อง ทรชนคนสวย (2510) และวันที่ 8 ต.ค. ฉายเรื่อง OCTOBER SONATA (2552) และกิจกรรมพิเศษ มิตร ชัยบัญชา
14-15 ตุลาคม 2566 สถานที่ ลานคนเมือง โดยวันที่ 14 ต.ค. ฉายเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544) และวันที่ 15 ต.ค. ฉายเรื่อง องค์บาก (2546)
20-22 ตุลาคม 2566 สถานที่ ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) โดยวันที่ 20 ต.ค. ฉายเรื่อง GOAL CLUB เกมล้มโต๊ะ (2544) วันที่ 21 ต.ค. ฉายเรื่อง นักเตะเสี้ยวลิ้มยี้ (2544) พากย์สด และวันที่ 22 ต.ค. ฉายเรื่อง KUNG FU PANDA (2558) 3D
27-29 ตุลาคม 2566 สถานที่ สวนลุมพินี โดยวันที่ 27 ต.ค. ฉายเรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน (2555) วันที่ 28 ต.ค. ฉายเรื่อง ร่างทรง (2564) และวันที่ 29 ต.ค. ฉายเรื่อง หอแต๋วแตก ภาค 2 (2558)
3-5 พฤศจิกายน 2566 สถานที่ ประปาแม้นศรี โดยวันที่ 3 พ.ย. ฉายเรื่อง PHOTOGRAPH (2562) วันที่ 4 พ.ย. ฉายเรื่อง เทพธิดาบาร์ 21 (2521) และวันที่ 5 พ.ย. ฉายเรื่อง เรื่องตลก 69 (2542)
10-12 พฤศจิกายน 2566 สถานที่ ดาดฟ้า ลาซาล วันที่ 10 พ.ย. ฉายเรื่อง LOST IN BLUE (2559) วันที่ 11 พ.ย. ฉายเรื่อง CONCRETE CLOUD (2557) และวันที่ 12 พ.ย. ฉายเรื่อง CLOSE (2559)
นอกจากนี้จะมีการฉายหนังจากสถานทูต ณ สวนป่าเบญจกิติ ในวันที่ 3-5 พ.ย. และวันที่ 10 พ.ย.-12 พ.ย. ด้วย
สำหรับข้อมูลกิจกรรมการฉายเทศกาลกรุงเทพกลางแปลงโดยละเอียดสามารถติดถามได้ที่เฟซบุ๊คเพจ กรุงเทพมหานคร ตลอดเทศกาล
งานแถลงข่าวในวันนี้มี ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทนสำนัก และสำนักงานเขต กรมการท่องเที่ยว การรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) สมาคมหนังกลางแปลงแห่งประเทศไทย สมาคมนักแสดง และผู้เกี่ยวข้องร่วมในงาน
#เศรษฐกิจดี #สังคมดี #กรุงเทพกลางแปลง
———-