กทม. – สธ.เร่งสอบสวนควบคุมโรคโควิด 19 ในคอนโดฯ ซอยลาดพร้าว 101
นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตวังทองหลาง กทม. กล่าวกรณีมีการเสนอข่าวพบชายติดเชื้อโควิด 19 เสียชีวิตในห้องพักคอนโดมิเนียมซอยลาดพร้าว 101 ว่า สำนักงานเขตวังทองหลาง ได้ประชุมร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 15 กองควบคุมโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เพื่อดำเนินการสอบสวนโรค รวมทั้งได้ประสานเจ้าพนักงานสอบสวน เพื่อทราบข้อมูล ณ สถานที่เกิดเหตุและส่งชันสูตร ส่วน สปคม.ได้ประสานสถาบันนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจเรื่องการชันสูตรศพ ขณะนี้อยู่ระหว่างทำหนังสือขออนุเคราะห์ชิ้นเนื้อทำ PCR เพื่อตรวจหาเชื้อและสายพันธุ์
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้ประสานนิติบุคคลของคอนโดมิเนียมให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 อย่างเคร่งครัด พร้อมมอบน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เพื่อทำความสะอาดป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และแนะนำให้นิติบุคคลแจ้งผู้พักอาศัยที่อยู่คนเดียวให้ลงทะเบียนแจ้งนิติบุคคล เพื่อติดตามอาการทุก 3 ชั่วโมง หากพบการติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มเติม จะช่วยเหลือได้อย่างทันที รวมทั้งแนะนำบริษัทที่ผู้เสียชีวิตทำงานให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคคิด 19 อย่างสม่ำเสมอและซักประวัติเพื่อนร่วมงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ สถานการณ์และแนวโน้มผู้ป่วยโควิด 19 พื้นที่เขตวังทองหลางในสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มคงที่ ยังคงมีการระบาด แต่ไม่รุนแรงและไม่เป็นคลัสเตอร์
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ.ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปคม.มีข้อสรุปอ้างจากแนวทางการสอบสวนโรค กรณีผู้เสียชีวิต ตามแนวทางของ สธ.กรณีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด 19 กำหนดให้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ประวัติสัมผัสโรค ประวัติการเจ็บป่วย สาเหตุการตาย และภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อก่อโรคและสายพันธุ์เท่านั้น โดยแนวทางดังกล่าวได้ยกเลิกเรื่องการให้สุ่มตรวจและค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต ซึ่งเคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น ในกรณีนี้จึงไม่ได้ค้นหาเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง หรือผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ การรักษาในปัจจุบันเป็นการรักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ให้ผู้ป่วยรับยาจากสถานพยาบาลและกลับไปดูแลตนเองต่อที่บ้าน ปฏิบัติตนตามมาตรการ DMHT อย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 5 วัน หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น มีไข้สูง หอบเหนื่อยมากกว่าปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีอาการปอดอักเสบ หรือมีปัจจัยโรคร่วมอื่น ๆ จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล ผู้ป่วย หรือญาติสามารถโทร.สายด่วน 1669 เพื่อประเมินอาการและนำส่งโรงพยาบาลได้ หากมีข้อบ่งชี้
กทม.แจงเวลาเปิด – ปิดไฟสะพานพระราม 8 ด้วยระบบอัตโนมัติ 18.00 – 06.00 น. ทุกวัน
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีกลุ่มนักวิ่งวิจารณ์บนสะพานพระราม 8 และเส้นทางโดยรอบการจัดงาน “กรุงเทพมาราธอน 2565” ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา ได้จัดการระบบไฟฟ้าส่องสว่างบริเวณสะพานพระราม 8 ประกอบด้วย ไฟฟ้าส่องสว่างบนถนนและทางเท้า โดยเปิด – ปิดด้วยระบบอัตโนมัติ ตั้งแต่เวลา 18.00 – 06.00 น. ของทุกวัน และไฟตกแต่งส่องสายเคเบิ้ลสะพานพระราม 8 เปิด – ปิด เวลา 18.00 – 21.00 น. ประมาณ 3 ชั่วโมง/วัน ส่วนในเส้นทางอื่น ๆ กทม.ได้ตรวจสอบผิวจราจร ทางเท้า และไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นประจำตามวงรอบทุก 15 วัน หากตรวจพบบริเวณใดไฟฟ้าดับ หรือได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจะเร่งดำเนินการจัดซ่อมทันที เพื่อบรรเทาปัญหาและเพิ่มความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชน
กทม.กำชับพนักงานขับรถปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย ใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด
นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน กทม. กล่าวกรณีเกิดอุบัติเหตุผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถดูดฝุ่นเขตตลิ่งชันว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตตลิ่งชัน ได้ประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ตลิ่งชัน ทราบข้อมูลเป็นอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนท้ายรถกวาดดูดฝุ่น มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุเกิดบนทางต่างระดับถนนพุทธมณฑล สาย 1 ข้ามถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน ผู้เสียชีวิตเป็นพนักงานขนส่งอาหาร (ไรเดอร์) ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนท้ายรถกวาดดูดฝุ่น ของ หจก.ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท เป็นคู่สัญญา ตามโครงการเช่ารถกวาดดูดฝุ่นเพื่อทำความสะอาดถนนฯ มี น.ส.ธีรวัลย์ นาแป้น เป็นผู้ขับขี่ และอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่กวาดดูดฝุ่นตามเส้นทางในพื้นที่เขตตลิ่งชันประจำวัน โดยใช้ความเร็วต่ำและเปิดไฟสัญญาณไฟระหว่างการปฏิบัติงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนการเยียวยาผู้เสียชีวิต หจก.ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท จะพิจารณาให้การช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้กำชับการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถประเภทต่าง ๆ ทั้งจัดการประชุมและมีหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องการใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด การเปิดสัญญาณไฟกระพริบขณะปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามกฎจราจรของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางสัญจรอย่างสม่ำเสมอ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้ประสานผู้จัดการ หจก.ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท ผู้ให้เช่า ทราบว่าเมื่อวันที่ 23 พ.ย.65 รถกวาดดูดฝุ่น หมายเลขทะเบียน 65-3334 กทม. เจ้าหน้าที่กำลังปฏิบัติงานบริเวณจุดเกิดเหตุ เวลา 10.36 น. ความเร็วขณะนั้น 6 กม./ชม. ได้เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ขับชนท้ายรถกวาดดูดฝุ่น ทำให้ผู้ขับขี่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที เบื้องต้นผู้เสียชีวิตได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ สสล.ตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุจากการทำงานบนท้องถนน จึงได้กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยและแนวทางการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถของ กทม. โดยเฉพาะการใช้ความเร็ว การเปิดสัญญาณไฟกระพริบขณะปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานตามกฎจราจร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้ขับขี่รถปฏิบัติงานในทางเดินรถด้านซ้าย จำกัดความเร็วไม่เกิน 60 กม./ชม. และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจรแก่พนักงานขับรถของ กทม.อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น ยังได้กำหนดให้รถเก็บขนมูลฝอย รถบรรทุกน้ำ รถกวาด ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด ให้เห็นได้ชัดเจนในระยะ 150 เมตร ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถเปิด – ปิดสัญญาณไฟลูกศรบอกทิศทางด้านซ้าย หรือด้านขวาของตัวรถ โดยควบคุมจากพนักงานขับรถ
กทม.เตรียมใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองคดีก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก
นายจิระเดช กรุณกฤตกุล รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทม.ดำเนินการแก้ไขตามกฎหมายกรณีการก่อสร้างคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก เขตวัฒนาว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ตรวจสอบประเด็นตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวแล้ว เห็นว่ายังมีข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนในประเด็นเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาล จึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมและจัดทำอุทธรณ์ และจะประสานพนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และเมื่ออุทธรณ์แล้ว ยังต้องรอผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สนย.มีมาตรการเข้มงวดตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎกระทรวง ข้อบัญญัติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องโดยรอบคอบทุกครั้ง
นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา กทม. กล่าวว่า ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบประเด็นตามคำพิพากษาแล้ว.ขณะนี้อยู่ระหว่างประสาน สนย.เพื่อรวบรวมและจัดทำอุทธรณ์ พร้อมทั้งจะประสานอัยการ เพื่อพิจารณาดำเนินการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต่อไป ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษเป็นอำนาจหน้าที่ของ สนย.พิจารณาอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎกระทรวง ข้อบัญญัติ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังป้องกันโควิด 19 จัดมาตรการเชิงรุกเร่งฉีดวัคซีนกลุ่ม 608
นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม.กล่าวกรณีมีการเสนอข่าวพบชายวัย 60 ปี ติดเชื้อโควิด 19 เสียชีวิตในบ้านพักย่านสาทรว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 14 ได้จัดเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ความรู้ผู้พักอาศัยโดยรอบถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 วิธีการทำความสะอาดที่พักอาศัย การทิ้งหน้ากากอนามัย การประเมินความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และหากผลตรวจคัดกรองเป็นบวกได้แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาล (รพ.) ตามสิทธิ
นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้เตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่ โดยจัดทำข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายสัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบแนวโน้มและสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและอุปกรณ์ป้องกันโรคสำหรับลงพื้นที่หากพบการระบาด ตลอดจนดำเนินมาตรการเชิงรุกในการเร่งรัดฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบช่องทางการรับวัคซีนโควิด 19 และสถานที่รับวัคซีนใกล้บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการเข้าถึงวัคซีน รวมทั้งออกหน่วยเคลื่อนที่ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้ป่วย 608 และประชาชนทั่วไป
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนพ.ได้ติดตามเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 อย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมศักยภาพเตียงในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพสำหรับดูแลผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรง หากพบเห็นผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาให้ติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ และหากต้องการรถฉุกเฉินทางการแพทย์ให้ประสานศูนย์เอราวัณ โทร.1669 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยใน 6 โซนหลักทั่วกรุงเทพฯ โดย ณ วันที่ 24 พ.ย.65 มีสถิติผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมด 120 เตียง มีการครองเตียงใน รพ.หลัก 77 เตียง คิดเป็นร้อยละ 64.17 ของจำนวนเตียงทั้งหมด และคงเหลือเตียงว่างรองรับผู้ป่วยอีก 47 เตียง ซึ่งยังเพียงพอรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ส่วนยาต้านไวรัส ได้แก่ Favipiravir Molnupiravir และ Remdesivir ยังมีเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ
นอกจากนั้น สนพ.ยังได้จัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในวันเสาร์และจัดบริการเชิงรุกถึงบ้านผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการรับวัคซีน และเปิดให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ใน 11 รพ.สังกัด กทม.บริการวัคซีนโควิด 19 และวัคซีนที่จำเป็นอื่น ๆ ให้ประชาชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง สามารถติดตามรายละเอียดการให้บริการคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ทั้ง 11 รพ.ในสังกัด กทม.ได้ที่ https://shorturl.asia/Qs5EL อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนป้องกันตนเองและคนในครอบครัวเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง DMHTT และ COVID Free Setting โดยเฉพาะกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ควรใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากต้องการปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพ สามารถติดต่อสอบถามผ่านสายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ 1646 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง