กทม.เตรียมเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำถนนรามอินทราและพื้นที่อื่นในเขตบางเขน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนรามอินทรา 39 เขตบางเขน ตั้งแต่ร้านมิสเตอร์ดีไอวายจนถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายไปทางวิบูลย์บริหารธุรกิจ รวมทั้งบริเวณถนนสุขาภิบาล 5 จนถึงแฟลตตำรวจว่า จากการตรวจสอบพบว่า ภายในซอยรามอินทรา 39 อยู่ในความพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขตบางเขน ซึ่งที่ผ่านมาได้จ้างเหมากรมราชทัณฑ์มาล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำเรียบร้อยแล้ว ส่วนซอยสุขาภิบาล 5 ที่อยู่ในความรับผิดชอบและดูแลของ สนน.ได้ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สนน.ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมพบว่า เนื่องจากสภาพถนนภายในซอยรามอินทรา 39 มีระดับต่ำ เมื่อฝนตกหนักน้ำจะระบายออกจากพื้นที่ไปลงคลองกระเฉดได้ช้า ประกอบกับหากระดับน้ำในคลองกระเฉดมีระดับสูงจะทำให้เกิดน้ำขัง ดังนั้น จึงต้องเร่งลดระดับน้ำในคลองกระเฉด เพื่อลดระดับน้ำภายในซอยรามอินทรา 39 ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณถนนรามอินทราและพื้นที่อื่น ๆ ในเขตบางเขน โดยเบื้องต้นควรยกระดับถนนและผิวจราจรให้มีระดับสูงขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ รวมถึงก่อสร้างบ่อสูบจุดทางลงคลองกระเฉด พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและทำพื้นที่ปิดล้อมในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำไหลย้อนเข้าสู่ระบบท่อระบายน้ำและไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือนประชาชนที่มีระดับต่ำกว่า ตลอดจนเตรียมความพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงฤดูฝน
รพ.เจริญกรุงประชารักษ์เร่งรัดงานก่อสร้างสกายวอล์ก เน้นย้ำความปลอดภัยประชาชน
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนการก่อสร้างสกายวอล์กเชื่อมโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ล่าช้า เกรงอาจเกิดอันตรายจากเศษวัสดุก่อสร้างตกหล่นใส่ขณะเดินลอดบริเวณดังกล่าวว่า การก่อสร้างสกายวอล์กเชื่อมโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.64 โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) แห่งหนึ่งเป็นผู้รับจ้าง ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างให้เหมาะสมกับพื้นที่ของโรงพยาบาล เพื่อรองรับสภาพการใช้งานอย่างปลอดภัยของประชาชน ขณะเดียวกันในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผู้รับจ้างประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก แต่ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามสัญญา ขณะที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์พยายามเร่งแก้ไข โดยพิจารณาช่วยเหลือผู้รับจ้างตามมาตรการที่กรมบัญชีกลางกำหนด
นอกจากนั้น คณะกรรมการควบคุมการก่อสร้าง ได้ตรวจสอบติดตามความคืบหน้าผู้รับจ้าง ตามมาตรการควบคุมการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย การป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างและบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด
กทม.แก้ไขฝาบ่อพักท่อระบายน้ำในซอยอ่อนนุช 21/1 ป้องกันเหตุอันตรายต่อประชาชน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุฝาท่อระบายน้ำบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ซอยอ่อนนุช 21/1 เขตสวนหลวง สูญหาย อาจเกิดอันตรายกับประชาชนว่า สนน.ได้ตรวจสอบฝาบ่อพักท่อระบายน้ำภายในซอยอ่อนนุช 21/1 บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ พบว่า มีฝาบ่อพักชนิด ค.ส.ล.ชำรุดอยู่บนทางเท้า ลักษณะฝาท่อตกลงในบ่อพัก เนื่องจากขอบบ่อพักเดิมใช้งานมานาน ทำให้เกิดการชำรุดเสียหาย เมื่อถูกน้ำหนักกดทับ ฝาท่อจึงทรุดตัวลงไปในบ่อ บางส่วนของฝาเอียงตัวและยกตัวในลักษณะเผยอขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นสำนักงานเขตสวนหลวง ได้เร่งนำไม้แผ่นพื้นปูทับและเทยางล้อมรอบขอบบ่อพักไว้ชั่วคราว พร้อมทั้งตั้งวางกรวยเป็นเครื่องหมายเตือนให้ระมัดระวังและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอันตรายต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางสัญจรผ่านไป-มา จากนั้น สนน.ได้ดำเนินการแก้ไขโดยติดตั้งขอบบ่อพัก พร้อมฝาบ่อพักชนิดเหล็กหล่อกลมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในการสัญจรของประชาชน
กทม.ติดตั้งระบบค้ำยันทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังตามหลักวิศวกรรม เพิ่มความปลอดภัยผู้สัญจร
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีการโพสต์ภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตสะพานลาดกระบังเดิมยังน่ากลัว อีกทั้งส่วนที่กำลังจะทุบ หรือปรับปรุงอยู่ในสภาพที่อันตรายมากว่า ภาพที่ปรากฏเป็นการรื้อโครงสร้างสะพานข้ามคลองหัวตะเข้บางส่วน เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเสาเข็ม เสาตอม่อของทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ช่วงกลาง และจากการตรวจสอบสะพานข้ามคลองหัวตะเข้ พบว่า โครงสร้างบางส่วนชำรุดเสียหายเนื่องจากการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน จึงได้ซ่อมแซมเสริมกำลังของโครงสร้างสะพานดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อความปลอดภัยให้ผู้ใช้เส้นทาง นอกจากนี้ ได้ติดตั้งระบบค้ำยันที่ผ่านการออกแบบตามหลักวิศวกรรม และขณะซ่อมแซมได้กั้นพื้นที่ โดยคงช่องทางกลับรถใต้สะพานไว้ เพื่อให้รถสามารถกลับรถได้ทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจร ช่วยบริหารจัดการจราจรในพื้นที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง รวมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) จระเข้น้อย เพื่อพิจารณาการจัดการจราจรมาโดยตลอด ทั้งนี้ จุดกลับรถบริเวณใต้สะพานข้ามคลองหัวตะเข้เป็นจุดกลับรถเดิม กรณีข้อกังวลอาจมีเศษวัสดุตกหล่นในบริเวณจุดกลับรถใต้สะพานข้ามคลองหัวตะเข้ โครงการฯ ได้เพิ่มระบบป้องกันเศษวัสดุตกหล่นในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้สัญจรเรียบร้อยแล้ว
กทม.กำชับ BTSC ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย-แผนงานซ่อมบำรุงระบบต่าง ๆ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิด ขณะวิ่งให้บริการผู้โดยสารระหว่างสถานีบางจากถึงสถานีปุณณวิถีว่า สจส.ได้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 ขบวนรถไฟฟ้าหมายเลข 78 (หมายเลขตู้ 2878) ประตูเปิดขณะรถวิ่งระหว่างสถานีบางจาก (E10) ถึงสถานีปุณณวิถี (E11) ฝั่งออกเมือง ซึ่ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ได้ตรวจสอบพบเหตุประตูรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องดังกล่าวเกิดจากระบบความปลอดภัย จึงมีสัญญาณแจ้งเตือนประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง และให้เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าประสานเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ประจำเส้นทางยืนเฝ้าระวังประตูที่ขัดข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารเข้าใกล้บริเวณประตู จนถึงสถานีปุณณวิถี (E11) เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า จึงได้ล็อกประตูบานที่ขัดข้องและติดสติกเกอร์งดใช้ประตูบานดังกล่าวและซ่อมบำรุงเมื่อถึงปลายทางสถานีเคหะฯ (E23)
อย่างไรก็ตาม สจส.ได้มีหนังสือกำชับบริษัท BTSC ให้ตรวจสอบและหาสาเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ทุกระบบให้ใช้งานได้ตามมาตรฐานสากล และจัดเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกกรณี รวมทั้งเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยและแผนงานซ่อมบำรุงระบบต่าง ๆ ตามระยะเวลาของรถไฟฟ้าบีเอส โดยเฉพาะในเส้นทางที่ กทม.ให้สัมปทาน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร
กทม.เร่งปรับปรุงท่อระบายน้ำ-ยกระดับถนนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังซอยบางนา-ตราด 23 และซอยรามอินทรา 39
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตบริเวณซอยบางนา-ตราด 23 เขตบางนา และซอยรามอินทรา 39 เขตบางเขน เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากว่า สนน.ได้ตรวจสอบปัญหาน้ำท่วมบริเวณซอยบางนา – ตราด 23 หรือซอยข้างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนา พบว่าเกิดจากพื้นที่ภายในซอยมีระดับต่ำและเป็นพื้นที่ของเอกชนรับผิดชอบดูแลอยู่ ซึ่งยังไม่ได้ยกให้เป็นที่สาธารณะ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะสั้นต้องล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ต้องปรับปรุงท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับปริมาณฝนได้มากกว่าปัจจุบัน พร้อมกับยกระดับถนนให้มีระดับสูงขึ้น
สำหรับปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนรามอินทรา 39 เขตบางเขน สนน.ได้ตรวจสอบสาเหตุพบว่า สภาพถนนภายในซอยรามอินทรา 39 มีระดับต่ำ เมื่อฝนตกหนักน้ำจะระบายออกจากพื้นที่ไปลงคลองกระเฉดได้ช้า ประกอบกับหากระดับน้ำในคลองกระเฉดมีระดับสูงจะส่งผลทำให้เกิดน้ำขัง จึงต้องเร่งลดระดับน้ำในคลองกระเฉด เพื่อให้น้ำภายในซอยรามอินทรา 39 ไหลไปลงคลองดังกล่าว โดยแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เบื้องต้นต้องยกระดับถนนและผิวจราจรให้มีระดับสูงขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ รวมถึงก่อสร้างบ่อสูบจุดทางลงคลองกระเฉด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และทำพื้นที่ปิดล้อมในบริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำไหลย้อนเข้าสู่ระบบท่อระบายน้ำและไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือนประชาชนที่มีระดับต่ำกว่าต่อไป
นางสาวโศรยา วัธชนะ ผู้อำนวยการเขตบางนา กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตบางนา ได้ตรวจสอบบริเวณซอยบางนา-ตราด 23 พบว่า เป็นถนนส่วนบุคคล โดยมีบริษัทเอกชนเป็นเจ้าของและมีสัญญาให้ กทม.ใช้สอยทรัพย์สินเมื่อวันที่ 22 ม.ค.53 ซึ่ง กทม.ได้ปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำแล้วบางส่วน โดยคงเหลือบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วมขังดังกล่าวความยาว 100 เมตร ส่วนสภาพผิวจราจรมีระดับต่ำ ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ และท่อระบายน้ำขนาดเล็ก มีสภาพอุดตัน เป็นรูปแบบท่อของเอกชนเดิม การระบายน้ำจะต้องระบายน้ำผ่านระบบระบายน้ำของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล บางนา ประกอบกับมีการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่จำนวนมาก จึงไม่รองรับกับปริมาณน้ำที่ต้องระบายออกจากพื้นที่ ดังนั้น สำนักงานเขตฯ จึงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนแก้ไขปัญหา โดยประสานห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลบางนาสูบน้ำจากท่อระบายน้ำซอยบางนา – ตราด 23 ผ่านระบบระบายน้ำลงสู่คลองหลอด กม.3 และประสานสำนักการระบายน้ำ กทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง เพื่อสูบน้ำลงสู่คลองหลอด กม.3 เร่งพร่องน้ำในคลองบางนา และคลองหลอด กม.3 ซึ่งเป็นคลองสายหลัก ที่ใช้ในการระบายน้ำของพื้นที่ ขณะเดียวกันได้จัดเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฯ ทำความสะอาดจัดเก็บขยะที่อุดตันหน้าตะแกรงช่องรับน้ำ รวมถึงอำนวยความสะดวกการจราจรและจัดรถรับ – ส่ง ช่วยเหลือประชาชนในการเดินทาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้น ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ และเข้มงวดกวดขันไม่ให้ผู้ค้าในบริเวณซอยบางนา-ตราด 23 ทิ้งขยะบนผิวจราจรและทางเท้า เพื่อลดปัญหาขยะอุดตันหน้าตะแกรงช่องรับน้ำและอุดตันภายในท่อระบายน้ำ
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้สำรวจถนนภายในซอยบางนา-ตราด 23 เพื่อของบประมาณปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำในปีงบประมาณ 2568 ขณะเดียวกันแขวงทางหลวงสมุทรปราการ ได้มีแผนการก่อสร้างปรับปรุงผิวจราจรและท่อระบายน้ำถนนเทพรัตน ช่วงตั้งแต่หน้าบิ๊กซีบางนา-คลองหลอด กม.3 ซึ่งจะเชื่อมท่อระบายน้ำซอยบางนา-ตราด 23 เข้าในระบบ คาดว่าจะได้รับงบประมาณในปี 2567
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังผิวจราจรบริเวณถนนรามอินทรา 39 เขตบางเขน ว่า จากการตรวจสอบพื้นที่บริเวณถนนรามอินทรา 39 ตั้งแต่ร้านมิสเตอร์ดีไอวายจนถึงสี่แยกเลี้ยวซ้ายไปทางวิบูลย์บริหารธุรกิจ พบว่า ภายในซอยมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง รวมทั้งถนนมีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน บางจุดเป็นแอ่งกระทะ เมื่อระดับน้ำในคลองกะเฉดมีระดับสูงกว่าถนนในซอย ส่งผลทำให้น้ำไหลย้อนเข้าสู่ระบบท่อระบายน้ำและไหลเข้าท่วมขังในผิวจราจรที่มีระดับต่ำกว่า การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาสำนักงานเขตฯ ได้จ้างเหมากรมราชทัณฑ์ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำแล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.พ. และสำนักการระบายน้ำ กทม.ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองกะเฉด เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ส่วนการแก้ไขปัญหาถาวรในระยะยาว สำนักงานเขตฯ ได้ขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมประจำปี 2566 เพื่อยกระดับผิวจราจร พร้อมวางท่อระบายน้ำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและสร้างประตูกันน้ำย้อนป้องกันน้ำในคลองกะเฉดไหลย้อนกลับ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจร่างและลงนามในสัญญา