Search
Close this search box.
กทม. ส่งเสริมการอ่านของเด็กปฐมวัยผ่านนิทานและการเล่นเริ่มจากที่บ้านและโรงเรียน เสริมพัฒนาการให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้และศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

(22 ก.ย.66) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการและเทศกาลรักการอ่านผ่านนิทานและการเล่น (Let’s Read and Play’s Reading Festival) ตอน หนูน้อยนักอ่านกับการผจญภัยในป่าใหญ่ โดยมี นายโทมัส พาร์ค ผู้แทนมูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย นายสมชาย ธงชัย ผู้แทนบริษัท โนมูระ สิงคโปร์ จำกัด ดร.สมชาย เวสารัชตระกูล ดร.รัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสายไหม ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัยและโรงเรียนเครือข่ายในเขตสายไหม ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลโครงการ ผู้ปกครองนักเรียนระดับปฐมวัย ณ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) เขตสายไหม

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับเด็กปฐมวัย เนื่องจากยังมีเด็กปฐมวัยอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง ทุกคนควรร่วมมือกันดูแลเด็กปฐมวัยเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลให้สังคมแห่งนี้เกิดทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในอนาคต กิจกรรมในเรื่องของการอ่าน การฟัง ไปสู่การเล่น เป็นกิจกรรมที่สำคัญ โดยการออกแบบกิจกรรมให้เด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครอง คุณครู หรือพี่เลี้ยงที่ได้รับการอบรมจะเป็นองค์ประกอบของกิจกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดพัฒนาการในด้านต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์ กิจกรรมสามารถเริ่มได้จากที่บ้านแล้วมาต่อเนื่องที่โรงเรียน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นและเกิดความเชื่อมโยงของระบบประสาทที่สำคัญ ทำให้เกิดพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านในการประเมิน ติดตาม จัดเก็บรวบรวมข้อมูลพัฒนาการด้านการอ่านและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยอย่างครบถ้วน รวมไปถึงการประเมินด้านจินตนาการของเด็กอีกด้วย

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสัมผัสที่ถูกต้องเป็นประตูแรกของพัฒนาการของเด็กซึ่งควรเริ่มจากที่บ้าน เนื่องจากจะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงทางอารมณ์ สร้างความมั่นใจในอีกหลายๆ ด้าน และจะทำให้เด็กเกิดความมั่นคงปลอดภัยและมั่นใจที่จะกลับมาพูดคุยขอคำปรึกษาจากครอบครัวในอนาคต รวมถึงทำให้เด็กเกิดความเคารพและเชื่อมั่นในตนเองนำไปสู่การให้ความเคารพผู้อื่น เคารพในความแตกต่างของการอยู่ร่วมในสังคมได้อีกด้วย ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่าการอ่านเป็นทักษะที่สำคัญที่นำไปสู่พัฒนาการด้านต่างๆ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และทำให้เด็กมีความสุข มีความสนุกในการอ่าน จนนำไปสู่การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านที่จะเป็นฐานที่สำคัญในการดำเนินชีวิตของเด็ก โดยอาจจะใช้สื่อโซเชียลต่าง ๆ หรือเทคโนโลยีมาช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน แต่ต้องมีการป้องกันสื่อโซเชียลเหล่านี้อย่างถูกต้อง จึงเห็นได้ว่าโครงการนี้ก่อก็ให้เกิดประโยชน์แก่ลูกหลานในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หากทำได้อย่างถูกต้องจะทำให้เด็ก 1 คน สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีศักยภาพและความรู้ในการพัฒนาสังคมต่อไป

ทั้งนี้ โครงการ Let’s Read and play เกิดขึ้นในปี 2559 โดยมูลนิธิเอเชียซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศไม่แสวงหากำไร ประกอบด้วยทีมงานของมูลนิธิฯ 18 แห่ง ทั้งในเอเชียแปซิฟิก สำนักงานในซานฟรานซิสโกและวอชิงตัน ดี.ซี. โดยการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเด็ก และจัดทำห้องสมุดนิทานดิจิทัล Let’s Read ซึ่งปัจจุบันมีนิทานเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 เรื่อง ใน 59 ภาษา ให้เด็กหลายล้านคนทั่วเอเชียแปซิฟิกได้อ่านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยตระหนักว่าเด็ก ๆ ต้องการอ่านหนังสือที่หลากหลายในภาษาแม่ของตนเอง ทั้งนี้ โครงการฯ ได้เปิดโอกาสให้นักเขียนและนักวาดภาพประกอบในแต่ละท้องถิ่นได้สร้างสรรค์นิทานในแบบของตนเอง ทั้งตัวละคร แนวคิด และบรรยากาศของเรื่อง อันเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และให้บริการทั้งบนระบบ Android และ IOS มีการออกแบบให้สามารถดาวน์โหลดบันทึกไฟล์หรืออ่านแบบ offline ได้อย่างสะดวกง่ายดาย ทั้งนิทาน คำอธิบายภาพ ตัวเลือกการอ่านแบบนิทานเสียง หรือวิดีทัศน์ภาษา มือ เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างหลากหลายและเหมาะสมตรงกับความต้องการการเรียนรู้ของเด็กๆ

มูลนิธิเอเชีย ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของนิทานและการเล่น จึงได้ทดลองนำร่อง “โครงการ Let’s Read and Play (ประเทศไทย)” โดยการสนับสนุนของบริษัท โนมูระ สิงคโปร์ จำกัด (Nomura Singapore Limited) ณ โรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย (ประถมศึกษา) ด้วยเห็นว่าการอ่านและการเล่นเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเติมเต็มพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ด้วยความสนุกสนานและสาระที่ซ่อนอยู่ในนิทานเป็นพื้นฐานช่วยพัฒนากระบวนการรู้หนังสือและทักษะการคำนวณของเด็ก ช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษา เนื่องจากทักษะการรู้หนังสือหรือทักษะการอ่านออกเขียนได้ (Literacy) เป็น ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้และพัฒนาชีวิต การอ่านได้คล่องและเข้าใจความหมายจะสร้างความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณแยกแยะและประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีวิต ซึ่งการดำเนินงานโครงการฯ ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กปฐมวัยและคณะคัดเลือกหนังสือนิทานภาษาไทยจากห้องสมุดนิทานดิจิทัล Let’s Read จำนวน 64 เรื่อง ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 ของประเทศไทย มาออกแบบเป็นกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในระดับโรงเรียน และกิจกรรมเสริมพัฒนาการที่พ่อแม่ผู้ปกครองช่วยเหลือดูแลทักษะการอ่านของบุตรหลานได้ที่บ้าน

#เรียนดี
—————

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200