Search
Close this search box.
เล็งลดขั้นตอนงานทะเบียนบัตร เช็กระบบ BMA-TAX ตรวจแยกขยะเขตสาทร สำรวจ Hawker Center BRT อาคารสงเคราะห์ คุมเข้มฝุ่นจิ๋วไซต์งานบางกอกสาทรโฮเทล จัดระเบียบผู้ค้าสาทรใต้ซอย 13 ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดยานนาวา

 

(21 ก.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย

 

 

ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตสาทร พร้อมทั้งสอบถามถึงภาพรวมของระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงานทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนที่มารับบริการในแต่ละวัน ประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งาน ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า โดยให้เขตฯ หาแนวทางลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนออกไป หรือรวมขั้นตอนบางอย่างเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการด้วยความรวดเร็ว

จากนั้นติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายทั้งแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 20,896 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 28,292 แห่ง ห้องชุด 15,168 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 64,356 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ติดตามปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีรายได้ รวมถึงให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เรียนรู้ทำความเข้าใจกับระบบต่างๆ ที่มีการปรับปรุงใหม่ เน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตสาทร มีข้าราชการและบุคลากร 350 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกแล้วนำไปรวบรวมที่จุดรับขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกแล้วใส่ถังสีเขียวเล็ก นำไปเทรวมที่ถังสีน้ำเงินมีฝาปิด ส่งต่อไปที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เขตสาทร เพื่อทำน้ำหมักเศษอาหาร ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร และเกษตรกรนำไปเลี้ยงปลา 3.ขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่ถังสีแดง รวบรวมนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บเป็นประจำทุกวัน โดยนำขยะไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 18 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 8 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน

สำรวจพื้นที่ Hawker Center บริเวณสถานีรถ BRT อาคารสงเคราะห์ ซอยนราธิวาสฯ 8-1 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมหรือตลาดนัดเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สำหรับพื้นที่บริเวณดังกล่าว เขตฯ ได้ประสานกับเจ้าของพื้นที่ เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center ซึ่งมีสถานที่ใกล้เคียงติดกับสถานีรถ BRT อาคารสงเคราะห์ อยู่ระหว่างซอยนราธิวาสฯ 8-1 ถึง 6 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 14 แผงค้า โดยคิดค่าใช้จ่ายตามอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด อย่างไรก็ตามเขตฯ ได้เจรจาให้ปรับลดราคาเหลือแผงละ 100บาท/วัน ในช่วงเวลา 3 เดือนแรก ของการเข้าพื้นที่ทำการค้า ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ รวมถึงพูดคุยสร้างความเข้าใจกับผู้ค้าบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 และถนนสาทรใต้ ซอย 13 ซึ่งมีผู้ค้าจำนวนน้อยราย ให้ย้ายเข้ามาทำการค้าในบริเวณดังกล่าว ที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอกสาทรโฮเทล ถนนสาทรใต้ ดำเนินการก่อสร้างโดยบริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารโรงแรมสูง 35 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุก รถโม่ปูนที่ผ่านเข้า-ออกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งกำชับผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากโครงการ เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ตรวจความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสาทรใต้ ซอย 13 เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ดังนี้ 1.ตลาดเจซี ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 11.00-19.00 น. 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 11 ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 4.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-20.00 น. 5.หน้าตึกทีพีไอ ถนนจันทน์ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 6.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. 7.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-14.00 น. 8.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 9.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-20.00 น. และ 10.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานคู่) ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-20.00 น. ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้าเกินแนวเส้นที่กำหนด รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดยานนาวา ถนนเจริญกรุง มีครูบุคลากรและนักเรียน 367 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะรีไซเคิล โดยแยกเป็นประเภท ได้แก่ ถังสำหรับขวดพลาสติก ถังสำหรับกล่องนม และถังสำหรับกระดาษ กิจกรรมทำกรอบรูปจากไม้ไอศกรีม 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับเศษอาหาร และใส่ถุงดำ 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 12 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 7 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 4 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 12 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.4 กิโลกรัม/วัน

ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายชาติชาย กุละนำพล ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200