Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2566

กทม.เตรียมพร้อมบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง ตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวถึงเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญว่า กรุงเทพมหานคร โดย สพส.ได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำตั้งแต่ต้นปี 2566 โดยจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาท้องถิ่นการเกษตรฝั่งพระนครและธนบุรี ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ สภาเกษตรกร กทม. สำนักการระบายน้ำ กทม. เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมทั้งติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ การเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และโรคระบาดสัตว์ที่อาจจะแพร่ระบาดในช่วงฤดูแล้ง

ขณะเดียวกันได้ประสานกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงแผนบริหารจัดการน้ำของ กทม.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพื่อรับมือผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำและการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เขต ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรติดตามข่าวสาร สถานการณ์และปริมาณน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ รวมถึงขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรพื้นที่ สำนักงานเกษตรเขต สำนักงานประมงพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์พื้นที่ สำนักการระบายน้ำ กทม. กรมชลประทาน ออกตรวจเยี่ยมสำนักงานเขต เกษตรกร และพื้นที่การเกษตรในพื้นที่เขตที่มีความเสี่ยง เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร นอกจากนั้น สพส. สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตหนองจอก ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก เพื่อติดตามข่าวสารสถานการณ์และปริมาณน้ำ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไข หลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้มากที่สุด

สำหรับมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ สพส.ได้ร่วมกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา กรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กทม.เพื่อติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำ และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำในพื้นที่เขต ตลอดจนประสานสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์และปริมาณน้ำ พร้อมทั้งประสานนายกสมาคมชาวนาไทย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในคลองอย่างใกล้ชิด รวมถึงประสานผู้แทนสภาเกษตรกร เจ้าหน้าที่เขตบางขุนเทียน เขตบางบอนและเขตทุ่งครุวัดค่าความเค็มติดตามสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าพื้นที่เกษตร หากพบค่าความเค็มเกินกำหนด ได้ประสานสำนักการระบายน้ำ กทม.และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ แก้ไข เปิดปิดประตูระบายน้ำ หากเกิดเหตุความเสียหายจากภัยแล้ง สพส.จะให้ความช่วยเหลือเกษตรกร กทม.ที่ประสบภัยพิบัติ ตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรณีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรฯ) และแนวทางของกรุงเทพมหานคร (กรณีเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร)

ทั้งนี้ สพส.ได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฯ รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำที่อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้ง เพื่อกำหนดแผนเพาะปลูกพืชและแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชผัก หรือพืชไร่ที่มีอายุสั้นทดแทน เช่น แตงโม เมล่อน การลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ จัดฝึกอาชีพ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกร รวมถึงส่งเสริมตลาดเกษตรกร Farmer Market เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนรณรงค์ขอความร่วมมือให้เกษตรกรและประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและใช้สำหรับการเกษตรอย่างเพียงพอ เช่น น้ำที่ใช้ล้างผัก สามารถนำไปรดน้ำต้นไม้ได้ การมีภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น เป็นต้น

 

กทม.ตรวจสอบความกว้างถนนซอยประดิพัทธ์ 23 ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีชาวชุมชนซอยประดิพัทธ์ 23 เขตพญาไท ร้องเรียนโครงการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบอาจไม่ปลอดภัยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบความกว้างถนนซอยประดิพัทธ์ 23 เมื่อวันที่ 30 ส.ค.66 ร่วมกับสภาผู้บริโภค สื่อมวลชน และผู้ร้องเรียน โดยสภาผู้บริโภคให้วัดความกว้างของถนนจากสภาพการใช้งานจริง (เสาไฟฟ้าถึงเสาไฟฟ้า) พบถนนมีความกว้างไม่ถึง 6.00 เมตร ซึ่งสำนักงานเขตพญาไท ได้เคยมีหนังสือลงวันที่ 14 ต.ค.64 ระบุซอยประดิพัทธ์ 23 มีความกว้างเขตทาง 7.00-10.00 เมตร ทั้งนี้ สนย.อยู่ระหว่างเสนอหนังสือเรื่องรายงานผลการลงตรวจสอบพื้นที่ แจ้งสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อทราบ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนกรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 24 เม.ย.66 และในการประชุมเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.66 โดย คชก.กทม.ได้พิจารณาประเด็นตามที่ได้มีการคัดค้านการอนุมัติรายงาน EIA ซึ่ง คชก.กทม.มีมติยืนตามมติเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 24 เม.ย.66 ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้รับทราบการแจ้งมติ คชก.กทม.ดังกล่าวแล้ว ตามหนังสือเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 11 ส.ค.66 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณารายงาน EIA โดยขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาต หรือยื่นแจ้งการก่อสร้างอาคารต่อสำนักการโยธา กทม.แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สนย.จะประสานสำนักงานเขตพญาไทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการกำหนดความกว้างถนนสาธารณะ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200