ตั้งงบฯ219ล.ติดเครื่องฟอกอากาศ

เริ่มชั้นอนุบาล-พัฒนาห้องเรียนปลอดฝุ่น429ร.ร.กทม.

ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 12 ก.ย. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย น.ส.พิศมัย เรืองศิลป์ รอง ผอ.สำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. แถลงเรื่องการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกทม. และแนวทางการจัดการศึกษา ภายใต้งบประมาณ ปีงบประมาณ 2567

นายศานนท์กล่าวว่า ห้องปลอดฝุ่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้เด็กปฐมวัยช่วง 2-6 ขวบ ในกทม. จึงมาชี้แจงและให้รายละเอียดในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ภาพรวมเด็กปฐมวัยในพื้นที่กรุงเทพฯ การเพิ่มจำนวนนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกทม. การจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล การพัฒนากายภาพสถานศึกษา การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาปฐมวัย และการ ปลดล็อกข้อจำกัดและลดภาระครู

นายศานนท์กล่าวถึงการดำเนินโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นว่า กทม.จะติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ 1,743 เครื่อง โดยได้รับงบประมาณในส่วนของงบครุภัณฑ์ 52.11 ล้านบาท รวมถึงจะปรับปรุงห้องเรียนใน 429 โรงเรียน รวม 1,743 ห้องเรียน โดยจะซีลห้อง หรือปรับปรุงห้องเรียนระบบเปิดให้เป็นระบบปิด ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและพัดลมระบายอากาศ นำร่องด้วยห้องเรียนของนักเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งยังไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้สะดวก จำนวนนักเรียนรวม 36,891 คน ตั้งงบประมาณไว้ที่ 219 ล้านบาท เฉลี่ยใช้เงิน 125,874 บาทต่อหนึ่งห้องเรียน เพื่อการดูแลสุขภาพของเด็กนักเรียนในระยะยาว

ทั้งนี้ แนวทางในการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (ห้องเรียนขนาดเฉลี่ย 49-64 ตารางเมตร) ประกอบด้วย ซีลห้องเป็นระบบปิด ติดตั้งเครื่องเติมอากาศบริสุทธิ์ โดยร่วมกับไทยพีบีเอส และภาคีรวมพลังสู้ฝุ่น และใช้แอร์-โซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องวัดอากาศ รวมถึงติดตั้งโซลาร์เซลล์และเครื่องกรองอากาศ ซึ่งติดตามผลฝุ่นหรือคาร์บอนที่ลดได้ โดยร่วมกับเอกชนในรูปแบบของ ซีเอสอาร์ โดยหากภาคเอกชนสนใจที่จะร่วมทำซีเอสอาร์ ปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นกับทางกทม. ติดต่อได้ที่ สำนักการศึกษา โทร.0-2437-6631 ในวันและเวลาราชการ

ในส่วนของแนวทางการเลือกเครื่องปรับอากาศ มีดังนี้ ขนาด ไม่ต่ำกว่า 30,000 btu จำนวน 2 เครื่อง ต่อห้องเรียนขนาด 49-64 ตารางเมตร ความสูง 3.5 เมตร คำนวณจากค่าเฉลี่ยของห้องเรียนในโรงเรียนตามปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ขนาดของห้องและค่า คูลลิ่งโหลด หรือค่าความร้อนในแต่ละห้อง คือเป็นห้องเรียนที่มีเด็กนักเรียนอยู่จำนวนมาก และเปิดใช้งานในเวลากลางวัน แสงแดดส่องถึง โดยเลือกระบบอินเวอร์เตอร์ เนื่องจากประหยัดไฟได้มากกว่าปกติถึง 30% และทำงานเงียบกว่าแอร์ธรรมดา จึงไม่รบกวนสมาธิเวลาเรียนและการนอนกลางวันของเด็ก

นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการเพื่อลดค่าไฟโรงเรียนในระยะยาว ซึ่งจะร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงเรียน โดยจะสำรวจการใช้พลังงานไฟฟ้า

ออกแบบและลงทุนติดตั้งระบบพลังงานทดแทน รวมถึงประเมินส่วนลดค่าไฟฟ้าด้วย ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะทำต่อเนื่องต่อไป

สำหรับการคำนวณค่าไฟ ได้วางแนวทางไว้ 3 กรณี 1.เปิดช่วงนอนกลางวัน 2 ชั่วโมง คิดเป็น 12.48 บาทต่อวันต่อเครื่อง 2,995.2 บาทต่อปีต่อเครื่อง 2.เปิดช่วงวิกฤตฝุ่นครึ่งวัน 4 ชั่วโมง คิดเป็น 24.96 บาทต่อวันต่อเครื่อง 5,990 บาทต่อปีต่อเครื่อง และ 3.เปิดช่วงวิกฤต

ฝุ่นเต็มวัน 8 ชั่วโมง คิดเป็น 49.92 บาทต่อวันต่อเครื่อง 11,980.8 บาทต่อปีต่อเครื่อง

ปัจจุบัน กทม.ได้รับงบประมาณ (งบอุดหนุน) เป็นค่าจัดการเรียนการสอนอยู่ที่ประมาณ 640 ล้านบาท โดยมีกรอบค่าไฟให้ใช้ไม่เกิน 40% และใช้แค่ 172.24 ล้านบาท หรือ 27% ดังนั้น ในการวางแผนติดแอร์จึงเป็นการวางแผนให้บริหารจัดการค่าไฟไม่ให้เกินกรอบที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้

 

 

ที่มา:  นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 13 ก.ย. 2566

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200