Search
Close this search box.
กทม.ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 13 กันยายน 2566

กทม.สุ่มตรวจประเมินมาตรฐานอาหารปลอดภัยในมินิมาร์ท – ซูเปอร์มาร์เก็ต พบผ่านเกณฑ์กว่า 95%

นางเบญญา อินทรวงศ์โชติ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพและข้อความระบุพบหนูในตู้วางขนมในศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง สาขาบีทีเอส อ่อนนุช เขตคลองเตยว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในศูนย์การค้าดังกล่าวพบว่า สถานที่ตามรูปภาพเป็นตู้เก็บขนมเปี๊ยะของบริษัทขนมแห่งหนึ่ง ซึ่งมาเช่าพื้นที่บริเวณโซนจำหน่ายอาหารพร้อมบริโภค อาหารสด ผัก ผลไม้ เนื้อที่เช่าประมาณ 15 ตารางเมตร โดยตู้เก็บขนมเปี๊ยะมีฝาปิด แต่บริเวณด้านข้างมีช่องว่างที่หนูสามารถผ่านไปได้ ซึ่งผู้จัดการร้านได้ชี้แจงว่า ขณะที่มีการถ่ายภาพดังกล่าวเป็นช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. บูธขนมเปี๊ยะได้ปิดไปแล้ว และโดยปกติศูนย์การค้าจะมีมาตรการเรื่องการรักษาความสะอาดและการควบคุมพาหะนำโรค โดยว่าจ้างบริษัทรับกำจัดแมลงและพาหะนำโรคมาดำเนินการเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม จะได้เพิ่มความถี่การวางกับดักพาหะนำโรค รวมทั้งเพิ่มเติมมาตรการป้องกันและควบคุมพาหะนำโรค เช่น หนู แมลงสาบ แมลงวัน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวอีกต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้สั่งการให้นำตู้ดังกล่าวออกจากบริเวณที่ตั้งสินค้าและให้นำขนมเปี๊ยะใส่ถุงพลาสติกรัดปากถุงให้แน่น แทนการใส่ตู้โชว์และให้ผู้บริโภคหยิบทีละชิ้น พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการหมั่นล้างทำความสะอาดพื้นที่และจัดเก็บสิ่งของ ภาชนะที่ใช้ประกอบอาหาร และวัตถุดิบให้มิดชิด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้จัดทำแผนการตรวจประเมินติดตาม กำกับมาตรฐานการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อติดตาม กำกับ มาตรฐานการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารเห็นความสำคัญ รวมทั้งให้ความร่วมมือปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานสุขลักษณะที่ดีและตระหนักถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารที่สะอาดปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ได้สุ่มตรวจประเมินสถานประกอบการอาหารประเภทมินิมาร์ท ซูเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างวันที่ 21 ธ.ค.65 – 27 ก.ค.66 โดยตรวจประเมินทั้งหมด 66 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.63 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 95.45 ไม่ผ่านเกณฑ์ 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.55 กรณีพบข้อบกพร่องของสถานประกอบการ สนอ.ได้มีหนังสือให้สำนักงานเขตให้คำแนะนำ ปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่อง พร้อมทั้งติดตามกวดขันให้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัยของ กทม.และรายงานผลให้ สนอ.ทราบ

นอกจากนี้ ได้จัดกิจกรรมพัฒนาการสุขาภิบาลอาหารในสถานที่สะสมอาหาร เพื่อปรับปรุง พัฒนายกระดับมาตรฐานสถานประกอบการอาหารทั้งด้านสุขลักษณะ ด้านความปลอดภัยอาหาร และการป้องกันโรคอุบัติใหม่ รวมทั้งเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติเรื่องการสุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัยให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรณีพบห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ สธ.และ กทม.กำหนด สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนผ่านช่องทางศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ กทม.โทร.1555 ระบบ Traffy Fondue ศูนย์สายด่วน สนอ.โทร.0 2245 4964 (ตลอด 24 ชั่วโมง) แจ้งผ่านแอปพลิเคชัน BKK FoodSafety หรือสำนักงานเขต 50 เขต (ในวันและเวลาราชการ)

 

กทม.เตรียมพิจารณาแก้ไขระเบียบอัตราค่าบริการทางการแพทย์ รพ.ในสังกัดให้สอดคล้องกับปัจจุบัน

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย 100 บาท ก่อนพบแพทย์ หรือก่อนเข้าห้องพักในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ว่า การเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวเป็นไปตาม “ระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าบริการ พ.ศ.2563” (หมวด 12 ค่าบริการทางการพยาบาล ลำดับ 12.1.6-12.1.7) ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดค่าบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยนอก ในและนอกเวลาราชการ 100 บาท ทั้งนี้ การจะยกเว้น หรือลดหย่อนค่าบริการทางการแพทย์ได้เมื่อมีเหตุอันสมควร อาทิ ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยฉุกเฉินอันเกิดจากสาธารณภัย หรือในกรณีป้องกันโรค “ค่าบริการ” หมายความว่า เงินที่สถานพยาบาลเรียกเก็บจากการบริการทางการแพทย์และการบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ รวมทั้งค่าบริการรถพยาบาล “การบริการทางการแพทย์” หมายความว่า การบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล เพื่อการเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ให้รวมถึงการบริการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ “การบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ” หมายความว่า การบริการทางการแพทย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้รับบริการจะได้รับการบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว ในสถานที่ที่จัดไว้เป็นสัดส่วนเฉพาะตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้รับบริการจะต้องเสียค่าบริการสูงกว่าค่าบริการทางการแพทย์

ทั้งนี้ สนพ.ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลสังกัด กทม.โดยประกาศอัตราค่าบริการให้ผู้รับบริการทราบล่วงหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ สนพ. อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น สนพ.ได้พิจารณาแก้ไขระเบียบ กทม.ว่าด้วยอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการทางการแพทย์รูปแบบพิเศษ และหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการยกเว้น หรือลดหย่อนค่าบริการ พ.ศ.2563 ด้วยแล้ว

 

กทม.ประสานสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดตรวจสอบต่างด้าวลักลอบเร่ขายสินค้าในตลาดนัดจตุจักร

นายศุภพิพัฒน์ บัลนาลังก์ ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (สงต.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนชาวต่างชาติลักลอบเร่ขายสินค้า และเปิดแผงค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม ในตลาดนัดจตุจักรว่า สงต.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผู้มาใช้บริการตลาดนัดจตุจักรและผู้ค้าเจ้าของแผงค้าในวันอังคาร-วันอาทิตย์ โดยเฉพาะวันเสาร์-วันอาทิตย์ มีคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาลักลอบเข้ามาประกอบการค้า นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายบริเวณหน้าร้าน หรือเร่ขายของจำนวนมาก ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้ประกอบการค้าและแย่งอาชีพคนไทย ซึ่งการทำงานดังกล่าวผิดเงื่อนไขกระทบต่อสิทธิของผู้ค้าภายในตลาดนัดจตุจักรและผู้ค้าบางราย อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดรับคนต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าว สงต.จึงได้ประสานความร่วมมือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และอธิบดีกรมการจัดหางานนำกำลังเข้าพื้นที่ปิดล้อมตรวจสอบบริเวณตลาดนัดจตุจักร โดยสามารถติดตามจับกุมตัวได้ 5 ราย แบ่งเป็น สัญชาติกัมพูชา 3 ราย และสัญชาติเมียนมา 2 ราย ซึ่งมีพฤติการณ์เร่ขายอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้รถเข็นเคลื่อนที่และแผงลอยแบบชั่วคราว ทั้งนี้ ผู้ถูกจับกุมบางรายไม่สามารถแสดงเอกสารหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงานให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ บางรายมีหนังสือเดินทาง แต่การอนุญาตสิ้นสุด หรือได้รับการผ่อนผันการตรวจลงตราให้เดินทางเข้ามาเพื่อการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม สงต.ได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันตรวจสอบกรณีพบคนต่างด้าวลักลอบเร่ขายสินค้า รวมถึงเปิดแผงค้าขายอาหารเครื่องดื่มแย่งอาชีพคนไทยในตลาดนัดจตุจักรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเร่ขายสินค้าเป็นงานต้องห้าม คนต่างด้าวไม่สามารถทำได้ อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 สำหรับตัวบุคคลต่างด้าวมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท ส่วนนายจ้างจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท การตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทย หรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200