(25 พ.ย. 65) เวลา 19.17 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ และพวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงวางพวงมาลาส่วนพระองค์ จากนั้นทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ รับเสด็จฯ ณ พระบรมราชานุสรณ์ สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
โดยในวันเดียวกันนี้ เวลา 17.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมวางพวงมาลาของกรุงเทพมหานคร ณ พระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ 2 ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 6 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา 01.45 น. ของวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระชนมพรรษาเป็นปีที่ 46 เสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา และทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า”
พระราชกรณียกิจที่สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ มีพระราชดำรัสสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ทั่วพระราชอาณาจักร โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ขึ้นภายในพระราชวังดุสิต เป็นที่ทดลองการปกครองแผนใหม่ เพื่อให้ข้าราชการรู้จักการใช้สิทธิในการปกครองตนเอง การจัดทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2445 และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2456 เพื่อให้คนไทยทุกคนใช้นามสกุล ทรงเร่งก่อตั้งกองทัพสยามให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ตามแบบยุโรปและทรงยกร่างพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 เพื่อเกณฑ์ชายฉกรรจ์เข้ารับราชการทหาร ทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 โดยมีจุดมุ่งหมายเกี่ยวกับการรักษาดินแดนของประเทศเป็นสำคัญ มีพระบรมราชาธิบายว่า “เสือป่า” นั้น คือทหารที่ท่านใช้ไปสืบข่าวข้าศึก และพระราชทานกำเนิดกิจการลูกเสือในประเทศไทย โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงเรียนมหาดเล็กหลวง” ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “วชิราวุธวิทยาลัย” โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา “โรงเรียนมหาดเล็ก” ขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” จากนั้นได้ขยายกิจการให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งต่อมาได้ยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
อีกทั้งมีพระราชดำริที่จะจัดสร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้น ต่อมาทรงจัดสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ โดยพระราชทานนามว่า “วชิรพยาบาล” เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อ พ.ศ. 2460 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ในการก่อสร้างตึกวชิรพยาบาล โดยทรงเห็นว่าโรงพยาบาลสุขาภิบาลที่ภูเก็ตคับแคบและถูกน้ำท่วมเสมอ ควรสร้างโรงพยาบาลใหม่ให้ทันสมัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาทำเลที่ตั้งโรงพยาบาลใหม่ และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงพยาบาลสุขาภิบาลเข้ากับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาพระราชกรณียกิจนานัปการเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์โครงการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย http://kingchulalongkorn.car.chula.ac.th
—————————