กทม.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในกรุงเทพฯ
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กรุงเทพมหานครมีการทำการค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ 2 รูปแบบ ได้แก่ การทำการค้าในบริเวณ หรือจุดที่ กทม.ประกาศอนุญาต โดยผู้ทำการค้าจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กทม.กำหนด ปัจจุบันได้มีประกาศ กทม.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายและจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ ซึ่งประกาศดังกล่าวได้คำนึงถึงผู้ใช้ทางเท้าเป็นสำคัญ เช่น การจัดวางแผงค้าแล้วจะต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรไม่น้อยกว่า 2 เมตร การเว้นที่ว่างสำหรับพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป้ายรถประจำทาง สะพานลอย ทางเข้าออกอาคาร ทางร่วมทางแยก ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุด กทม.มีนโยบายชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับประชาชนที่ใช้ทางเท้าและใช้ถนนเป็นหลัก รวมถึงความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ การทำการค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะโดยเฉพาะทางเท้าจะต้องไม่ส่ง ผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ทางเท้า ขณะเดียวกัน กทม.ได้จัดหาพื้นที่เอกชน หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์อาหาร (Hawker Center) ให้เป็นรูปธรรม เน้นความโปร่งใสการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และไม่ให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ค้าบนถนน หรือสถานสาธารณะ
นอกจากนั้น ยังได้จัดประชุมซักซ้อมชี้แจงให้ทุกสำนักงานเขตยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อีกทั้งได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อสอดส่องดูแลและประสานสำนักงานเขตให้ดำเนินการแก้ไขอีกทางหนึ่ง โดยสถิติการจัดระเบียบทางเท้าและการทำการค้าหาบเร่แผงลอย สามารถลดพื้นที่ทำการค้าไปได้แล้ว จำนวน 198 จุด ผู้ค้า 3,400 ราย จากจำนวนที่ลงทะเบียนไว้ 726 จุด ผู้ค้า 15,320 ราย
กทม.ประสานหน่วยงานสาธารณูปโภคตรวจสอบพื้นผิวจราจรงานก่อสร้าง-สำรวจโพรงใต้ถนนป้องกันอุบัติเหตุ
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุผิวจราจรปากซอยถนนลาดพร้าว 67/2 ทรุดตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ว่า สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณที่ถนนทรุดตัวอยู่ในพื้นที่การก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จากการประสาน กฟน.ทราบว่า สาเหตุเกิดจากขั้นตอนการดันท่อ บ่อพักมีรอยรั่วเกิดขึ้น ทำให้ดินโดยรอบไหลลงบ่อและเกิดโพรงใต้ผิวจราจร ถนนจึงทรุดตัว ซึ่ง กฟน.ได้ประสานผู้รับจ้างแก้ไขชั่วคราวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสามารถเปิดการจราจรได้แล้วตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 7 ก.ย.66
อย่างไรก็ตาม สนย.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่มีงานก่อสร้างในผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เข้มงวดกวดขันตรวจสอบสภาพพื้นผิวจราจรให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยใช้เครื่องมือสำรวจโพรงใต้ถนนในจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก ทั้งยังสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนที่สัญจรไปมาอีกด้วย
กทม.เข้มงวดตรวจสอบสุขาภิบาลอาหารในโรงเรียน พร้อมสุ่มตรวจคุณภาพอาหารเช้า-กลางวัน
นางสาวอัญชนา บุญสุยา ผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุกรณี
เด็กนักเรียนโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน มีอาการอาหารเป็นพิษหลังรับประทานอาหารเช้าของโรงเรียนว่า สำนักงานเขตฯ ร่วมกับกองควบคุมโรคติดต่อ กองสุขาภิบาลอาหาร และศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน สำนักอนามัย (สนอ.) ตรวจสอบหาสาเหตุ เบื้องต้นอาหารที่สงสัยคือ เมนูก๋วยจั๊บน้ำข้นปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากระยะเวลาที่เตรียมอาหารจนถึงการบริโภคมีระยะเวลานานและวัตถุดิบบางอย่างที่ปรุงสุกแล้ว เช่น ไข่ต้ม เครื่องก๋วยจั๊บอื่น ๆ ต้องใช้มือสัมผัสก่อนจัดให้นักเรียนรับประทาน และทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ได้โดนความร้อน จึงอาจทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อและเชื้อเจริญเติบโตได้มาก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไม่มีรายงานนักเรียนป่วยเพิ่มเติม
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้จัดทีมเฝ้าระวังสอบสวน
เคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ของกองควบคุมโรคติดต่อ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน ตรวจหาคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำดื่ม น้ำใช้ จำนวน 2 ตัวอย่าง ผลการตรวจไม่พบคลอรีนอิสระคงเหลือและเก็บตัวอย่าง Rectal Swab แม่ครัว จำนวน 7 ตัวอย่าง และนักเรียน 1 ตัวอย่าง เพื่อส่งตรวจหาเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ส่งตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะเดียวกันได้ตรวจ Swab มือแม่ครัว จำนวน 7 ตัวอย่าง และอุปกรณ์ประกอบอาหาร เช่น ถาดหลุม ช้อนยาว ช้อนสั้น มีด เขียง กระบวยตักอาหาร และน้ำดื่ม น้ำใช้ หาเชื้อแบคทีเรีย อยู่ระหว่างรอผล พร้อมทั้งตรวจสภาพแวดล้อม พบว่า มีความสะอาดเรียบร้อยและผู้ประกอบอาหารได้รับการอบรมและตรวจสุขภาพประจำปีครบถ้วน
นอกจากนั้น ยังได้เก็บตัวอย่าง อาหารจำนวน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ก๋วยจั๊บ นมโรงเรียน 1 ตัวอย่าง อาเจียน ของนักเรียน จำนวน 1 ตัวอย่าง น้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำดื่มเครื่องกรอง, น้ำดื่มตู้กดน้ำ ส่งตรวจที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รอผลประมาณ 4-7 วัน อีกทั้งให้ความรู้สุขศึกษา คำแนะนำ และการทำลายเชื้อแก่ผู้แทนของโรงเรียนและแม่ครัว
นางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม.กล่าวว่า สนศ.ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสุขาภิบาลการประกอบอาหารของโรงเรียนในสังกัด กทม.โดยมีนโยบายให้โรงเรียนสุ่มตรวจคุณภาพอาหารเช้าและอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยใช้ชุดทดสอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงให้โรงเรียนตรวจวัตถุดิบก่อนปรุงอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขข้อกำหนดการจ้างทำอาหาร ขณะเดียวกันได้กำชับและติดตามให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ใช้ระบบ Thai School Lunch for BMA ในการจัดหาอาหารเช้าและอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณภาพ มีความหลากหลาย สะอาด ถูกหลักโภชนาการ มีสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ มีปริมาณเพียงพอตามวัยของเด็กนักเรียน ส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างเหมาะสม
กทม.เตรียมพร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง แนะกลุ่มเสี่ยงรับคำปรึกษาที่ BKK Pride Clinic 27 แห่ง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม.รองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในกรุงเทพฯ หลังพบการระบาดเพิ่มในกลุ่มเยาวชนและกลุ่มชายรักชายว่า สนพ.ได้เตรียมพร้อมแนวทางการป้องกันโรคของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หากมีอาการของโรคพึงสังเกตอาการจะคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการ ดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอ หรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น โดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยจะแยกกักตัวทันทีและรายงานข้อมูลตามแนวทางที่กำหนดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังต่างประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีการระบาดให้สังเกตอาการ โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันง่าย โดยมาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด 19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้คือ หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลายหลายกรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ซึ่งปัจจุบันมี 27 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาล (รพ.) กลาง โทร.02-220 8000 ต่อ 10350 รพ.ตากสิน โทร.02-437 0123 ต่อ 1136, 1140 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02-289 7890 รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.02-429 3575-81 รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ โทร.02-988 4100 รพ.ลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โทร.02-356 9995 รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02-102 4222 หรือ 02-421 2222 และ รพ.สิรินธร โทร. 02-328 6900-15 ต่อ 10268, 10269 ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) 3 บางซื่อ ศบส.4 ดินแดง ศบส.9 ประชาธิปไตย ศบส.21 วัดธาตุทอง ศบส.22 วัดปากบ่อ ศบส.23 สี่พระยา ศบส.25 ห้วยขวาง ศบส.26 เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ ศบส.28 กรุงธนบุรี ศบส.29 ช่วง นุชเนตร ศบส.36 บุคคโล ศบส.41 คลองเตย ศบส.43 มีนบุรี ศบส.48 นาควัชระอุทิศ ศบส.61 สังวาลย์ ทัสนารมย์ และ ศบส.64 คลองสามวา ขณะเดียวกันได้มอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ขึ้น เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่อาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที
นอกจากนั้น ยังได้สั่งการให้ทุก รพ.ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกรักษาผู้ติดเชื้อ HIV หากพบผู้ป่วยให้ส่งยืนยันการติดเชื้อผ่านสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สอบสวนโรคทุกราย เฝ้าระวังควบคุมโรคในพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่ระบาด พร้อมเน้นย้ำบุคลากรทางการแพทย์ หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว แล้วแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
กทม.เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ – ทำแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์ฝน
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำของ กทม.ในระยะยาวว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนน.ได้เตรียมพร้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมปี 2566 โดยตรวจสอบซ่อมบำรุงเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ต่าง ๆ ของอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง สถานีสูบน้ำ 193 แห่ง รวมถึงประตูระบายน้ำ 248 แห่ง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน และเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะควบคุมและลดระดับน้ำในคลองต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อเป็นแก้มลิงรองรับปริมาณฝนที่จะตกในพื้นที่ หากได้รับการแจ้งเตือนมีฝนตก เจ้าหน้าที่จะเร่งเดินเครื่องสูบน้ำของอุโมงค์ระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ รวมถึงจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงของสถานีสูบน้ำทุกแห่งอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ฝนจะเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากนั้นจะควบคุมและลดระดับน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนในครั้งต่อไป อีกทั้งได้จัดทำแผนเผชิญเหตุเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำตลอดช่วงฤดูฝน
สำหรับความคืบหน้าการขุดลอกท่อระบายน้ำปี 2566 กทม.มีแผนล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ จำนวน 3,758.4 กิโลเมตร (กม.) แล้วเสร็จ 3,239.6 กม.ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงาน กทม.และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ ส่วนการจัดเก็บผักตบชวา วัชพืช หรือสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำในคลองต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ได้กำหนดแผนปฏิบัติงานเก็บขยะวัชพืชเป็นประจำทุกวัน ซึ่งการเปิดทางน้ำไหลของ สนน.ในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 62 คลอง ความยาว 191,603 เมตร ดำเนินการ 4 รอบ/ปี ขณะนี้ดำเนินการได้ครบ 100% และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดทางน้ำไหล รอบที่ 4 ผลงานร้อยละ 80 ส่วนการเปิดทางน้ำไหลของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ในปี งบประมาณ 2566 จำนวน 1,355 คลอง ความยาว 1,345,840 เมตร ดำเนินการ 1 รอบ/ปี ดำเนินการได้ร้อยละ 92.11 ส่วนแผนปรับปรุงและพัฒนาคูคลอง ทางระบายน้ำ สนน.ได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 9 คลอง ความยาว 50,834 เมตร ดำเนินการได้ร้อยละ 96.28 ส่วนสำนักงานเขตได้รับงบประมาณขุดลอกคลอง ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 173 คลอง ความยาว 151,870 เมตร ดำเนินการได้ร้อยละ 86.31 สำหรับการพัฒนาปรับปรุงคลองและการพัฒนาคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ สนน.ได้ก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการระบายน้ำ อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.คลองเปรมประชากร งานก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.พร้อมทางเดินคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.คลองวัดทองเพลง จากบริเวณถนนเจริญนครถึงวัดทองเพลง นอกจากนั้น สนน.ยังมีแผนในระยะยาวที่จะก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.ในคลองสายหลักให้ครบถ้วน เช่น คลองบางเขน คลองบางซื่อ คลองพระโขนง คลองประเวศบุรีรมย์ คลองสามวา คลองลาดบัวขาว และคลองพระยาราชมนตรี
ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้จัดหาพื้นที่สร้างบ่อพักน้ำ หรือแก้มลิงรองรับและเก็บกักน้ำไว้ได้แล้ว จำนวน 36 แห่ง (แก้มลิง 32 แห่ง และ Water Bank 4 แห่ง) และในปี 2566 คาดว่า จะมีพื้นที่รองรับและกักเก็บน้ำเพิ่มอีก 132,700 ลูกบาศก์เมตร ได้แก่ แก้มลิงบึงสาธารณะลาดพร้าว 71 แก้มลิงสวนน้ำเสรีไทย ช่วงคลองรหัสถึงคลองครุ แก้มลิงวงเวียนบางเขน ส่วน Pipe jacking มี 12 แห่ง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 10 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 อีก 2 แห่ง ทั้งนี้ กทม.ได้มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ
โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง และรายงานผลการดำเนินงานให้ สนน.ทราบทุกเดือน และตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (ByPass) เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก หากมีปัญหาด้านการระบายน้ำจะแจ้งให้โครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำไปเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.ต่อไป
เขตวังทองหลางสั่งปิดร้านอาหารในซอยลาดพร้าว 122 ไม่มีใบอนุญาต – จำหน่ายสุราเกินเวลา
นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง กทม.กล่าวถึงการตรวจสถานประกอบการร้านอาหารแห่งหนึ่งในซอยลาดพร้าว 122 พบการจำหน่ายสุราเกินเวลาตามกฎหมายกำหนดและเปิดสถานประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาตว่า สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.พ.66 พบการจำหน่ายสุราเกินเวลาตามกฎหมายกำหนดและประกอบกิจการแสดงดนตรีและจำหน่ายอาหาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งการแสดงดนตรีเข้าข่ายเป็นกิจการควบคุมตามข้อ 7 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และการจำหน่ายอาหารเป็นกิจการที่จะต้องได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 สำนักงานเขตฯ จึงได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้สถานประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและขอรับใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทแสดงดนตรี ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบกิจการให้ยื่นขออนุญาตฯ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตและหนังสือรับรองการแจ้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ห้ามมิให้ดำเนินกิจการ หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามมาตรา 71 และมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการประกอบกิจการร้านดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 และ 6 ก.ย.66 เวลา 21.00 น. ซึ่งขณะตรวจสอบไม่พบว่า มีการเปิดกิจการแต่อย่างใด