(10 ก.ย.66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟังการนำเสนอนโยบายในการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 3/2566 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวก่อนเปิดประชุมว่า บางครั้งเวลาเราทำงานเราโฟกัสกับงานจนไม่มีเวลาออกจากกรอบวิธีคิดเดิม พอมีคนรุ่นใหม่มาช่วยคิดมันทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบคือเรากลับมาคุยกันถึงสิ่งที่ดำเนินงานไปแล้ว บางอย่างที่เป็นข้อจำกัด ถ้าเราได้พูดคุยกันอาจจะหาวิธีแก้ไขได้ วันนี้จึงมาฟังเพื่อแลกเปลี่ยนกัน และหวังว่างานที่ทำมาแล้วจะไปต่อได้ดีขึ้น
ด้านรองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ขอบคุณทีมงานสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งนี้เข้าสู่ครั้งที่ 3 แล้ว ตอนแรกก็คุยกันเล่นๆ ว่าการเปิดสภาเมืองคนรุ่นใหม่ทุก 3 เดือนจะทำได้ไหม ซึ่งก็ทำได้ ฉีกทุกข้อจำกัดไปได้แล้ว มีทีมมาเข้าร่วมกับเราถึง 7 ทีม วันนี้อีก 2 ทีม อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของสภาเมืองคนรุ่นใหม่คือการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน วันนี้สภาเด็กและเยาวชนมาพูดเรื่องการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของเด็กและเยาวชนซึ่งตรงโจทย์ของสภาเมืองคนรุ่นใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสิ่งนี้
สำหรับการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 3/2566 ในวันนี้ ประกอบด้วย การนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการจากผู้ที่เข้าร่วมการประชุมสภาเมืองคนรุ่นใหม่ ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 Special Talk จาก ‘เทใจ’ และการนำเสนอนโยบาย จาก 3 ทีม ได้แก่
1. นโยบายสร้างศูนย์การเรียนรู้เพื่อส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน จาก ‘ทีม Mindventure’
2. นโยบาย CYCBKK Online พัฒนาช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมกิจการเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร
จาก ‘ทีมสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร’
3. นโยบายระบบการแพทย์ในยุค 4.0 จาก ‘ทีม Agnos’
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวหลังรับฟังการนำเสนอจากทั้ง 3 ทีมว่า สภาเมืองคนรุ่นใหม่เป็นนโยบายที่เราพยายามจะผลักดัน อยากบอกว่าทุกเหตุการณ์ที่มีเวทีแบบนี้คือสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมือง อยากให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน ถ้ามีไอเดียแล้ว และตั้งใจที่ทำ วันไหนที่มันออกดอกออกผล และเป็นสิ่งที่เห็นว่าควรผลักดันเป็นนโยบายระดับเมือง สภาเมืองคนรุ่นใหม่จะเป็นคำตอบของพวกเราทุกคน ทุก 3 เดือนเราจะมาเจอกันที่นี่ ทุกไอเดียไม่ว่าใครจะบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเงินทุน หรือผู้บริหารจะรับฟังหรือไม่ แต่ที่นี่จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่เสมอ
ทั้งนี้ สภาเมืองคนรุ่นใหม่ คือ กระบวนการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเมือง เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ (15-35 ปี) ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ มาร่วมเสนอนโยบายร่วมกับผู้บริหารและหน่วยงาน กทม. เป็นนโยบายภายใต้นโยบายกรุงเทพฯ 9 ดี มิติ “บริหารจัดการดี”
———–