ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “บทบาทของเมือง (กรุงเทพฯ) ในการสร้างเมืองสุขภาวะและยืดหยุ่นด้วยหลักธรรมาภิบาล (the role of city (BMA) in creating healthy and resilience city)” ในการประชุมระดับภูมิภาคร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายสาขาในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลเมืองสำหรับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก” (Urban Governance for Health and Wellbeing) ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ เขตราชเทวี เมื่อวานนี้ (27 ก.ย. 65)
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้กรุงเทพมหานครรับรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงความซับซ้อนในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะคนยากจน คนต่างด้าว รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไม่ถึง ระบบบริการทางสาธารณสุข ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กรุงเทพมหานครจึงให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเมืองครอบคลุม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม ระบบบริการสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครยังสามารถรองรับผู้บริการได้ร้อยละ 40-60 เท่านั้น ดังนั้น การมีเครือข่ายเพื่อความร่วมมือเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
กรุงเทพมหานครได้นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการระบบสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น อาทิ Telemedicine, Teleconsult เป็นต้น ทั้งนี้ การสร้างเมืองสุขภาวะไม่ได้หมายถึงมิติด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองให้ดีด้วยเพื่อให้คนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กรุงเทพมหานครจึงพยายามผลักดันนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ เช่น นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง, ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB: Made in Bangkok), เปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. (Open Bangkok) และอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ตัวช่วยด้านเทคโนโลยีสำหรับคนกรุงเทพฯ เป็นต้น เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก (World Health Organization) กำหนดจัดประชุมระดับภูมิภาคร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายสาขาในหัวข้อ “ธรรมาภิบาลเมืองสำหรับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก” (Urban Governance for Health and Wellbeing) ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2565 เวลา 09.00-16.00 น. ซึ่งการประชุมดังกล่าวได้เชิญภาคีหลากหลายสาขา ได้แก่ ตัวแทนจากเมืองต่าง ๆ และผู้กำหนดนโยบายด้านสาธารณสุขระดับชาติ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในเมือง การแนะนำห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยธรรมาภิบาลเมืองเพื่อสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี และโครงการเครือข่ายเมืองสุขภาวะระดับภูมิภาครวมถึงการเผยแพร่เครื่องมือต่าง ๆ ที่ได้รับการศึกษาในระยะที่ผ่านมา เช่น เครื่องมือและมาตรฐานการดำเนินงานสำหรับการรับรองเมืองสุขภาวะ และเครื่องมือและโครงการส่งเสริมขีดความสามารถเมือง
นอกจากนี้ยังเป็นเวทีสำคัญสำหรับองค์การอนามัยโลกในฐานะผู้ผลักดันด้านสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับการสนับสนุนเมืองต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวางแผนรับมือสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ความสำคัญกับความครอบคลุมในการจัดให้มีระบบสุขภาพในทุกระดับ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพของคนเมือง โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ สร้างเมืองสุขภาพดี Healthy City (ปลอดโรคคนเมืองอาหารปลอดภัย) ทำให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพที่ดี หมายความถึงมาตรการการป้องกันด้วยตัวเองจากการออกกำลังกาย การรักษาสุขภาพการรักษาอนามัยส่วนตัวและชุมชน รวมทั้งการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพอย่างครอบคลุมทั่วถึง
———–