(4 ก.ย. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 19/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ในการประชุมวันนี้ มีเรื่องที่เราภาคภูมิใจมาก คือ รางวัลเลิศรัฐ ซึ่งเป็นรางวัลที่สำนักงาน ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) คัดเลือกจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ
โดยกรุงเทพมหานครมีผลงานที่ผ่านการประเมินและได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จำนวน 2 รางวัล ดังนี้ 1. ระดับดีเด่น (สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน) ได้แก่ ผลงาน BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือสำนักงาน ก.ก. (จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 740 ผลงาน) และ 2.ระดับดี (สาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริหาร) ได้แก่ ผลงาน โครงการ Smart OPD โดย สำนักการแพทย์ (จากหน่วยงานที่ส่ง จำนวน 832 ผลงาน)
สำหรับ BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน เป็นผลงานที่เกิดจากการปรับปรุงระบบการทำงานของเราใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเปิดระบบราชการโดยให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมในการแจ้งและแก้ไขปัญหาเมือง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนแรก การให้บริการของศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ส่วนที่ 2 การให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อว่า Traffy Fondue ส่วนที่ 3 การเชื่อมโยงศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ (1555) กับระบบ Traffy Fondue
ทั้งนี้ BMA เปิดระบบ เปิดใจ ใกล้ชิดประชาชน มีแนวคิดมาจาก Open Governance 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. การเปิดเผยข้อมูล โดยมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายและเท่าเทียม 2. ช่องทางการให้บริการและเข้าถึงข้อมูลสำหรับกลุ่มเปราะบาง 3. การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเมือง 4. การยกระบบราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเข้าสู่ระบบ Online 5. การส่งเสริมความโปร่งใสและต่อต้านทุจริต 6. การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน และ 7. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาการให้บริการและทำงานเชิงรุก
ในส่วนของ โครงการ Smart OPD เป็นการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ รวมถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินและข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของโรงพยาบาลในเครือข่ายกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงเข้ากับระบบสารสนเทศโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภท Smart Device รองรับระบบปฏิบัติการ IOS และ Android ซึ่งทั้ง 2 รางวัลนี้เป็นสิ่งที่เราภูมิใจ เพราะถือเป็นความสำเร็จเชิงนโยบายที่เราได้ดำเนินการมา โดยใช้หลักในการให้ทุกคนมีส่วนร่วมและมีความเข้าใจจิตใจประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน
อีกเรื่องหนึ่ง ในวันพรุ่งนี้ กทม.จะเข้ารับรางวัล ITA จากสำนักงาน ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) โดยปีที่แล้วมีเขตได้รับรางวัลดีเยี่ยมประมาณ 10 เขต ส่วนในปีนี้เพิ่มเป็น 26 เขต จาก 50 เขต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราดำเนินการเรื่องความโปร่งใสอย่างจริงจังในปีที่ผ่านมา
“รางวัลที่ได้รับเป็นรางวัลของเจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ใช่เฉพาะของผู้ว่าฯ เป็นรางวัลของทีมงานที่ร่วมมือกันและสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล อย่างไรก็ตาม รางวัลต่าง ๆ เป็นเหมือนกำลังใจที่ทำให้เราเดินหน้า ซึ่งเรายังต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
—————————