(24 ส.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเกี่ยวกับการบริหารเครือข่ายแก่ผู้เข้ารับการอบรมพัฒนาทีมบริหารเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิระดับพื้นที่ (Area manager) ว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโรงพยาบาลในสังกัด 12 โรงพยาบาลทำหน้าที่เป็น Zone manager วิธีการทำงานเป็นเครือข่าย กรณีป่วยด้วย Common illness (อาการหรือเจ็บป่วยเบื้องต้น) ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 21 โรคที่มีการรับยาจากร้านขายยาได้ ซึ่งพอรับยาไป 3 วันแล้วเภสัชกรช่วยติดตามให้และให้ร้านขายยาเชื่อมกับระบบ Tele Consult, Telehealth และ Telemedicine ของกรุงเทพมานคร สำหรับกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนหรืออาการรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น ค่อยรับหรือส่งต่อมาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งก็ถือเป็น Area manager อีกรูปแบบหนึ่งคือการช่วยเครือข่าย ซึ่งถ้าเชื่อมกันได้หมดประชาชนก็จะได้รับบริการที่เป็นระบบมีการเครือข่ายการดูแลที่เข้มแข็ง Area manager ไม่ใช่แค่บอกว่าเราเป็นใคร แต่เป็นการทำงานเป็นระบบที่จะมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพิ่มขึ้นมากมาย อาทิ ร้านขายยาคุณภาพประมาณ 500 ร้าน คลินิกชุมชนอบอุ่น 141 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ศูนย์สาขา 77 แห่ง โรงพยาบาล 12 แห่ง โรงพยาบาลเครือข่าย 19 แห่ง โดยรวมแล้วจะมีหน่วยงานดูแลปฐมภูมิถึง 772 หน่วยบริการ และถ้าบริหารจัดการร่วมกับเทคโนโลยี สถานการณ์การขาดแคลนอัตรากำลังแพทย์ พยาบาลก็จะดีขึ้น จากบทบาทหน้าที่ของการเป็น Area manager จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
สำหรับการอบรมพัฒนาทีมบริหารเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิระดับพื้นที่ (Area manager) มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นเพื่อพัฒนาทีมนำเครือข่ายระดับพื้นที่ให้มีความสามารถในการจัดบริการปฐมภูมิ 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านบริหารจัดการหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่ายด้วยหลักการบริหารจัดบริการแบบองค์รวม บูรณาการ และตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ
2. ด้านบริหารจัดการเครือข่ายบริการทั้งรัฐและเอกชน ด้วยการจัดสรรพื้นที่และประชากรเป้าหมายให้เครือข่ายหน่วยบริการตามศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ สอดคล้องกับนโยบาย สปสช. และกรุงเทพมหานคร
3. ด้านการออกแบบและจัดบริการในรูปแบบเครือข่ายด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว และสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและความสะดวกตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ
4. ด้านการประสาน ส่งเสริม สนับสนุนการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชน และ
5. ด้านการควบคุมกำกับ พัฒนาบุคลากร และคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดบริการที่มีคุณภาพบนเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงในสังคมมหานคร
ทั้งนี้กำหนดจัดอบรมระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 66 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ผู้เข้ารับการอบรมเป็นทีมจาก 12 ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) ของ 6 กลุ่มเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 36 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข แพทย์ประจำที่ช่วยบริหารองค์กร หรือหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลและบริหารงานทั่วไป หรือนักวิชาการสาธารณสุข หรือ ผู้ดูแลงานอนามัยชุมชน นอกจากนี้มีทีมนักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข จำนวน 4 คน และพยาบาลวิชาชีพ หรือนักวิชาการสาธารณสุขศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองออเงิน จำนวน 1 คน รวมผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด 41 คน
—————– (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)