“อยากให้เป็นวัฒนธรรมที่ให้ทุกคนถือขวดน้ำของตัวเอง เหมือนหลายประเทศในโลก การลดขยะขวดพลาสติกเป็นหนึ่งในนโยบายของเรา เดิมเราร่วมกับการประปาให้บริการจุดเติมน้ำดื่ม แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด มีความเป็นห่วงเรื่องความสะอาด จึงเอาออก ปัจจุบันกทม.
มีขยะพลาสติกสูงถึง 1,500-1,800 ตัน ต่อวัน ส่วนหนึ่งเป็นขวดพลาสติก การที่ทุกคนถือขวดมาเติมจะช่วยลดขยะพลาสติกได้จำนวนมาก ขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันในวันนี้และขอให้โครงการดีๆแบบนี้ขยายผลออกไปเรื่อยๆ “
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นประธานงานเปิดตัวโครงการ Bottle Free Seas และเครือข่าย Refill Bangkok ในวันนี้ (19 ส.ค.66)
โดยมี นางเทย์เออะ อ็อตมันน์ รักษาการเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ นายโดมินิค ทอมสัน รองผู้อำนวยการมูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร และผู้สนใจ ร่วมกิจกรรม ณ สนามเทคบอล สวนเบญจกิติ
กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ Environmental Justice Foundation (EJF) เปิดตัวโครงการ Bottle Free Seas ลดก่อน ล้นโลก เดินหน้านโยบายน้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง ติดตั้งจุดเติมน้ำใหม่ 10 แห่งทั่วกรุงฯ โดยเป็นจุดเติมน้ำดื่มในสวนเบญจกิติ 2 จุด คือประตู 6 และสนามพิคเติลบอล ทั้งนี้สามารถตรวจสอบจุดเติมน้ำดื่มที่มีอยู่แล้วภายใต้เครือข่าย Refill Bangkok ผ่านทาง https://refillbkk.greendot.click หรือค้นหาผ่านแอปพลิเคชัน Greendot และยังสามารถแจ้งตู้น้ำดื่มชำรุดได้อีกด้วย
ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าวในการเสวนา“ทำด้วยกัน ไปได้ไกล แก้ไขปัญหาพลาสติกใช้แล้วทิ้งในกรุงเทพมหานคร” ว่า จุดเติมน้ำถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่คนต้องการ ต้องหาจุดที่คนเติมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย เราไม่อาจสร้างจุดเติมน้ำในทุกจุดของกรุงเทพฯได้ ในส่วนของชุมชนที่มีตู้หยอดน้ำแล้วเราก็ต้องเข้าไปดูความสะอาด เป็นหน้าที่ของสำนักอนามัย กทม. ที่ต้องเข้าไปสุ่มตรวจความสะอาด พื้นที่สาธารณะต้องมีจุดเติมน้ำ รูปแบบจุดเติมน้ำเดิมเป็นแบบกดเข้าปากก็ต้องเปลี่ยนเป็นเอากระบอกมาเติม ซึ่งอาจเริ่มในอาคารของหน่วยงานภาครัฐ อาคารสำนักงานเขต กทม.เป็นผู้ถือกฎหมาย โดยเฉพาะพรบ.ควบคุมอาคาร ในอนาคตอาจกำหนดให้อาคารต้องมีจุดเติมน้ำ นอกเหนือจากเรื่องบันไดหนีไฟ และข้อกำหนดอื่นๆ ทั้งนี้กทม.ไม่สามารถทำเองได้ทุกอย่างต้องร่วมกับทุกภาคส่วน แมพที่มีจะช่วยให้กทม.สามารถสุ่มตรวจได้ดีขึ้น และหากเพิ่มเซ็นเซอร์ ใช้ระบบ IoT แสดงจุดติดตั้งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของการบำรุงรักษาเมื่อมีเครื่องที่ชำรุดด้วย
สำหรับผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย คุณศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์ ผู้จัดการโครงการพลาสติกเอเชียอาคเนย์
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) คุณกอปร ลิ้มสุวรรณ ผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste จุฬาลงกรณ์มหา และคุณอุทัยวรรณ อนุชิตานุกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การเสวนา กิจกรรม “กระบอกว่ารักเธอ”จับฉลากลุ้นรับกระบอกน้ำคนดัง อาทิ คุณสิงห์ วรรณสิงห์ คุณก้อง Konggreengreen และแพรี่พาย กิจกรรม “พกเพื่อลด” พกภาชนะมารับเครื่องดื่มและขนมภายในงานได้ฟรี กิจกรรม “แลกเพื่อลด” นำกระบอกน้ำสภาพดีที่คุณไม่ได้ใช้มาแลกหรือส่งต่อให้กับเพื่อนที่ต้องการเริ่มลดพลาสติกและร่วมพบปะกลุ่มคนที่ต้องการลดพลาสติกไปด้วยกัน
————