(11 ส.ค. 66) เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาพนักงานรับ-ส่งอาหารและสินค้า (Rider) ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสิทธิชัย อรัณยกานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ ผู้บริหารและผู้แทนบริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวว่า กทม.ได้ทยอยติดตั้งกล้อง CCTV ในจุดหลัก ๆ ขณะนี้ได้ติดตั้งกล้องไปแล้ว 11 กล้อง ในพื้นที่ 10 จุด ได้แก่ 1.ปากซอยเพชรบุรี 9 2.สุขุมวิท 26 3.พัฒนาการ 44 4.ปากซอยลาดพร้าว 25 5.ประเสริฐมนูกิจ บึงพระราม (2 กล้อง) 6.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 37 7.หน้าโรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ 8.ปั๊มน้ำมันปตท. เทพรักษ์ 9.เพชรเกษม 28 10.หน้าซอยเสือใหญ่ โดยหลังจากที่เราทำงานมาได้ 2 เดือนกว่า จากการติดตั้งกล้อง CCTV และมีระบบ AI ตรวจจับป้ายทะเบียน เราก็ได้ตัวเลขของการทำผิดกฎจราจรโดยการฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ซึ่งทำให้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตัวเลขในมิติที่ต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น วินจักรยานยนต์รับจ้างซอยเสือใหญ่อุทิศ ที่เคยมีวันละ 200-300 ครั้ง บางคันก็กระทำผิดซ้ำ แต่ปัจจุบันตัวเลขลดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงหลักหน่วย หรือบางวันไม่มีเลย ทำให้เราเห็นว่า จริง ๆ แล้ว หากเรามีเราวิธีการสื่อสารกันกับผู้ฝ่าฝืน ทำความเข้าใจกันเพื่อให้เขารู้ ไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว จะทำให้ความรับผิดชอบในสังคมได้เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นได้ เรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องความปลอดภัยในการใช้ทางเท้าก็จะไม่มี
ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวต่อไปว่า การที่เราเชิญบริษัทรับ-ส่งอาหารและสินค้า หรือ Rider จำนวน 12 บริษัทมาพูดคุย เนื่องจากว่ายังมีตัวเลขที่ยังนิ่งอยู่ในเรื่องของการกระทำความผิด ที่ยังแช่อยู่ในปริมาณเดิมและยังไม่ลดน้อยลง ทางวินจักรยานยนต์รับจ้างเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ทาง Rider นี้ ยังไม่มีใครพูดคุย วันนี้จึงได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องของบริษัท รองผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายที่ดูแลบุคลากร มาหารือทำความเข้าใจกันเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในเบื้องต้นได้คุยกันในมาตรการที่ให้ทางบริษัทกลับไปหารือกับผู้บริหารของบริษัท ถึงตัวเลขที่มีการฝ่าฝืนว่ามีจำนวนเท่าไร จะดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้เรายังได้รับฟังมาตรการของทางบริษัทที่มีการควบคุมพนักงานอยู่แล้ว หากได้รับรายงานว่ามีพนักงานกระทำผิดกฎหมายจราจร จะมีการตักเตือน ระงับสัญญาณ 3 วัน 7 วัน หรือตัดสัญญาณออกไปเลย แต่ว่าเราก็ได้รับข้อมูลบางอย่างที่เราไม่รู้จากการประกอบธุรกิจ การเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับพนักงาน ซึ่งมีทั้งพนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว ฟรีแลนซ์ พนักงานบางคนอาจทำงานได้หลายบริษัท และไม่รู้ด้วยว่าขณะนั้นกำลังทำงานให้ใครอยู่ อาจจะสวมเสื้อบริษัทหนึ่ง สะพายกล่องอีกบริษัทหนึ่ง แต่ไปรับส่งของกับอีกบริษัทหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
“โดยสรุปแล้ว มติในที่ประชุมวันนี้คือ 1.จะพยายามทำให้ตัวเลขในการกระทำความผิดลดลง แบบเดียวกับที่วินจักรยานยนต์รับจ้างได้ทำไปแล้ว 2.แชร์ข้อมูลที่เรามีเท่าที่เราจะให้ได้ โดยไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้กระทำความผิด ให้ทางบริษัทไปตรวจสอบก่อน เพราะว่าเราเห็นเสื้อกับกล่องท้ายรถ เมื่อตรวจสอบแล้วเป็นพนักงานของบริษัท บริษัทก็สามารถดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายของบริษัทนั้น ๆ ต่อไป หลังจากนั้น เราจะมาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอีกที” ที่ปรึกษาฯ อดิศร์ กล่าวในตอนท้าย
#ปลอดภัยดี #เดินทางดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)