(3 ส.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ได้มีการเน้นย้ำเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ เรื่องที่ 1 ให้ทุกเขตไปตรวจสอบเรื่องธุรกิจของชาวต่างชาติ โดยไม่ได้เน้นเพื่อไปจับผิด เพราะธุรกิจเหล่านี้สามารถมองได้อีกมุม คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวจากคนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม หากมีการกระทำที่เป็นลักษณะของนอมินี (การถือหุ้นแทนคนต่างชาติหรือการอำพรางชื่อผู้ถือหุ้นที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย) จะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ไป รวมถึงตรวจสอบว่าการนำเข้าของต่างประเทศมาขายดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่
สำหรับกรณีที่เขตห้วยขวางมีธุรกิจของคนจีนจำนวนมากในพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดอยู่ 4 แห่ง เช่น ขายของโดยไม่มีฉลาก ไม่มีการจดทะเบียนการค้าต่าง ๆ ส่วนในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ซึ่งมีพื้นที่เยาวราชก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่เน้นย้ำให้ไปตรวจสอบ
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม. และตำรวจ มาพูดคุยกันที่สำนักงานเขตห้วยขวาง เพื่อหารือเกี่ยวกับระบบวิธีการทำงานในพื้นที่เขตห้วยขวาง กรณีมีชาวต่างชาติมาประกอบอาชีพอยู่เยอะ และปรากฏเป็นข่าวอยู่ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในลักษณะล้อเลียนว่า ที่นี่คือเมืองของประเทศนั้นประเทศนี้ จากการหารือได้รับข้อมูลในชั้นต้นว่าชาวต่างชาติที่มาประกอบกิจการในพื้นที่เขตห้วยขวางทั้งหมดใช้นอมินีแทบทั้งสิ้น เป็นการให้คนไทยถือหุ้นแทนแต่ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง โดยในวันนั้นผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ได้ไปประชุมด้วย และได้ให้ข้อมูลว่าในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์มีเยอะมาก ได้แนะนำให้ผู้อำนวยการเขตอื่นควรศึกษา พ.ร.บ. ของกระทรวงพาณิชย์ มาตรา 42 ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมาขอเปิดประกอบกิจการในรูปแบบกิ๊ฟชอป และความเป็นจริงผู้จดทะเบียนเป็นคนไทยแต่แรงงานอาจไม่ใช่คนไทย
นอกจากนี้ ได้มีการหารือว่าหากเกิดเหตุในพื้นที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จากที่คุยกันได้ข้อมูลว่าในพื้นที่เขตห้วยขวางหรือพื้นที่อื่น ๆ ที่มีเรื่องชาวต่างชาติ จะมีส่วนราชการจำนวนมากที่สามารถเข้าไปดูแลได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของตน เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และ กทม. อีกทั้งในพื้นที่เขตห้วยขวางมีสถานีตำรวจอยู่ 5 สถานี จากการหารือทำให้ทราบว่าผู้อำนวยการเขตต้องเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ดูแลฝ่ายปกครอง โดยเขตห้วยขวางจะเป็นต้นแบบสำหรับเขตอื่น ๆ ในการทำงานต่อไป โดยที่ผ่านมามีการปิดไปแล้ว 4 ร้านที่ทำผิดเกี่ยวกับเรื่องผิดประเภทของการขออนุญาต
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำว่า กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามเดินหน้าลุยโดยต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงานด้วย ทั้งนี้ มีทั้งแง่บวกทั้งแง่ลบ ซึ่งในแง่บวก ถ้าทำถูกกฎหมายก็เป็นการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติรู้สึกอุ่นใจเวลามาอยู่เมืองไทย แต่ในแง่ลบคือการผิดกฎหมาย ต้องดูว่าของที่เอามาเสียภาษีไหม ไปแย่งอาชีพคนไทยไหม ต้องดูอย่างรอบคอบ ซึ่งพยายามจะตรวจสอบทุกเขต
● สั่งทุกเขตตรวจสอบจุดเสี่ยงแหล่งสะสมพลุ ประทัด ก๊าสหุงต้ม สารเคมี พร้อมดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ 2 เรื่องวัสดุอันตราย จากกรณีที่โกดังเก็บพลุที่จังหวัดนราธิวาสระเบิด ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่มีสถานประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และโคมลอย แต่มีสถานประกอบการในลักษณะการสะสมเพื่อการค้า จำนวน 3 ราย จึงได้ให้ทุกเขตไปตรวจสอบจุดเสี่ยงและการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ โดยให้ตรวจสอบครอบคลุมไปถึงก๊าสหุงต้ม และสารเคมีต่าง ๆ ด้วย
● เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนกรณีน้ำท่วมขัง 24 ชั่วโมง
เรื่องที่ 3 การให้บริการประชาชนในช่วงน้ำท่วม โดยเน้นย้ำให้มีการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ดังนี้ 1. กำหนดให้มีแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการช่วยเหลือประชาชนกรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน 2. มีคำสั่งมอบหมายภารกิจ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถยนต์และรถยนต์เพื่อใช้สำหรับช่วยเหลือ รับ-ส่งประชาชน ความพร้อมของเครื่องสูบน้ำ ความพร้อมของเชื้อเพลิง และการแก้ไขปัญหากรณีเครื่องสูบน้ำติดขัด ความพร้อมของอุปกรณ์ เครื่องมือช่วยเหลือ กรณีรถยนต์จอดเสียกลางทาง ความพร้อมของป้ายเตือน การแจ้งเตือน และการประสานงานกับ สน.ท้องที่ กรณีเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ตลอดจนจัดเวรเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ฝ่ายโยธา และฝ่ายเทศกิจ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน และเก็บขยะหน้าตะแกรงตามจุดเสี่ยงน้ำท่วม 3. เตรียมความพร้อมของกระสอบทราย กรณีได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน หรือกรณีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยใช้เป็นแนวทางเดินให้กับประชาชน 4. ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงตามสถานีสูบน้ำหลักของสำนักการระบายน้ำเพื่อให้น้ำไหลเข้าสู่บ่อสูบได้เร็วขึ้น และ 5. เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือเขตข้างเคียง กรณีมีการร้องขอ
● ติดตามเป้าหมายปี 67 จากทุกกลุ่มเขต
เรื่องที่ 4 ได้ให้แต่ละกลุ่มเขตสรุปเป้าหมายปี 67 จำนวน 22 เรื่องที่เรากำหนดไป เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ พัฒนาถนนสวยกี่กิโลเมตร เพิ่มสวน 15 นาที กี่แห่ง ปรับปรุงทางเท้ากี่กิโลเมตร ติดตั้ง/ซ่อมแซมไฟฟ้าแสงสว่างริมคลองกี่ดวง เป็นต้น
● สำรวจสิ่งกีดขวางทางเท้า รื้อถอนแล้วกว่า 3 พันจุด
เรื่องที่ 5 สิ่งกีดขวางบนทางเท้า ได้ให้ทุกเขตสำรวจสิ่งกีดขวางต่าง ๆ อาทิ ตู้ควบคุมและอุปกรณ์ของ กฟน./กปน. ตู้ควบคุมและอุปกรณ์ของ NT หรือตู้โทรศัพท์สาธารณะ เสาไฟฟ้า ตู้ไปรษณีย์ หัวจ่ายน้ำดับเพลิง เสาสื่อสาร ป้อมตำรวจ เสาป้ายจราจรของ สน.ท้องที่ ตู้ควบคุมและอุปกรณ์ของสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. (สจส.) ป้ายรถเมล์ เสาสัญญาณไฟจราจร, เสา CCTV, ป้ายจราจร, ป้ายโฆษณาและทรัพยสินอื่น ๆ ของ สจส. สิ่งก่อสร้างของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. (สสล.) เช่น คอกต้นไม้ รวมถึงต้นไม้ และอื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนถนน/ซอยที่มีสิ่งกีดขวาง 329 สายทาง รวมจำนวนสิ่งกีดขวางได้ทั้งสิ้น 27,128 จุด รื้อถอนแล้วประมาณกว่า 3,000 จุด ซึ่งสำนักการโยธา กทม. (สนย.) จะติดตามผลการสำรวจและรื้อย้ายสิ่งกีดขวางการสัญจรบนทางเท้าจากสำนักงานเขตอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไปเพราะบางจุดไม่ใช่ของหน่วยงานเราเอง
● ปรับภูมิทัศน์ตลอดแนวรถไฟฟ้าตามนโยบายถนนสวย
เรื่องที่ 6 การพัฒนาถนนสวย จะเห็นได้ว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาหลายเส้นทาง จึงให้พัฒนาถนนเหล่านี้ บริเวณใต้ตอม่อต่าง ๆ ปรับภูมิทัศน์ตลอดเส้นทางให้มีความสวยงาม โดยพัฒนา 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านการใช้งาน และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของการปลูกต้นไม้บริเวณแนวเกาะกลางและล้อมรอบตอม่อรถไฟฟ้า จะดำเนินการในพื้นที่ดังนี้ 1. ถนนรามอินทรา (รถไฟฟ้าสายสีชมพู) 2. ถนนรามคำแหง (รถไฟฟ้าสายสีส้ม) และ 3. ถนนลาดพร้าว-ศรีนครินทร์ (รถไฟฟ้าสายสีเหลือง) พร้อมได้มีการขอความร่วมมือจากผู้รับจ้างที่จะคืนพื้นที่ให้ กทม. ในการช่วยปรับพื้นที่เป็นถนนสวยด้วย
● เร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของสำนักงานเขต ทำบัตรประชาชนไม่เกิน 15 นาที
เรื่องที่ 7 การให้บริการประชาชนที่มารับบริการที่สำนักงานเขต มีความกังวลว่าช่วงหนึ่งมีความล่าช้า จึงให้สำนักยุทธศาสตร์ฯ ตรวจเช็คว่าประชาชนที่มาใช้บริการทำบัตรประชาชนที่เขตใช้เวลาเท่าไร ซึ่งมีเป้าหมายไม่เกิน 15 นาที รวมกับเวลาที่คอยด้วย ที่ผ่านมายังมีบางเขตใช้เวลาเกิน 15 นาที โดยพบว่าเกิน 15 นาที ประมาณ 14% ต้องปรับคุณภาพ เรื่องคน และเรื่องการให้บริการให้ดีขึ้น จากนั้นจะมีการทำ dashboard สำหรับผู้บริหารและฝ่ายทะเบียน ติดตามภาพรวมของการให้บริการ ซึ่งจะเปิดใช้งานเดือน ส.ค. นี้ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงปัญหาได้ชันเจนขึ้นและทราบว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เขตไหนต้องปรับปรุงฝ่ายไหน dashboard จะทำให้นำข้อมูลมาบริหารจัดการได้ดีขึ้น รวมถึงจะทำเรื่องระบบศูนย์รับคำขออนุญาตของกรุงเทพมหานคร (BMA OSS) หรือวันสต็อปเซอร์วิส/ออนไลน์เซอร์วิส ซึ่งปัจจุบันประชาชนยังใช้บริการไม่เยอะ ส่วนใหญ่เป็นการขอรับใบคนพิการ การขออนุญาตก่อสร้างอาคารยังใช้ช่องทางนี้ไม่เยอะ ซึ่งจะพัฒนาให้คนหันมาใช้เพิ่มขึ้น
—————————