รพ.กทม.เตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด กทม.ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข หากพบสัญญาณเตือนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2566 ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.มีมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาจเพิ่มขึ้น โดยสำรองเตียงโรงพยาบาลในสังกัด สนพ.และวชิรพยาบาล จำนวน 224 เตียง กรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนมีอัตราการครองเตียงถึงร้อยละ 80 จะขยายจำนวนเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งสำรองยา Favipiravir Molnupiravir Paxlovid และ Remdesivir สำรองชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มศักยภาพการตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยสามารถตรวจได้ประมาณ 2,200 ราย/วัน นอกจากนั้น ยังได้สำรองวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะชนิด Bivalent ให้บริการประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม.และนอกสถานพยาบาล ตลอดจนเตรียมแผนการรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยร่วมมือกับหน่วยงานของ กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าวและระบบบริหารจัดการเตียงแบบศูนย์รวม
ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งขอให้ทุกคนไปรับวัคซีนโควิด 19 ประจำปี (Annual Vaccination) ซึ่งเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก ฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับวัคซีนประจำปีได้เช่นเดียวกันตามความสมัครใจ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม.
ส่วนสถานพยาบาล กทม.ยังคงเน้นย้ำมาตรการ DMH ประกอบด้วย Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน Mask Wearing สวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และ Hand Washing ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่อาจมีความเสี่ยงการรับเชื้อจากโรงพยาบาลไปยังบุคคลในครอบครัว โดยผู้ที่มารับบริการทุกรายต้องสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจลล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางภายในโรงพยาบาลสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี
กทม.ตรวจความปลอดภัยสถานที่สะสม – จำหน่ายดอกไม้เพลิงในกรุงเทพฯ
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวถึงมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยที่อาจเกิดจากสถานประกอบการ โรงงานผลิตพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และโคมลอยว่า สปภ.ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพร้อมยานพาหนะและอุปกรณ์กู้ภัยต่าง ๆ ได้แก่ รถดับเพลิง รถกู้ภัย และรถกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย ซึ่งภายในตัวรถจะมีอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าระงับเหตุ เช่น ชุดป้องกันสารเคมี เครื่องช่วยหายใจ (SCBA) เครื่องมือตรวจวัดชนิดสารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่าง ๆ อุปกรณ์การตรวจสอบและการเฝ้าระวังพื้นที่ชนิดเคลื่อนที่ได้ ชุดทดสอบสารเคมีเบื้องต้น (Hazmat kit) น้ำยาโฟมดับเพลิง เป็นต้น ขณะเดียวกันได้จัดให้มีอุปกรณ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงอันตรายให้กับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัยที่เข้าเผชิญเหตุในระยะประชิด ได้แก่ ยานยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบควบคุมระยะไกล (LUF 60) และแท่นปืนฉีดน้ำชนิดยกเคลื่อนที่ได้ ซึ่งมีประจำการอยู่ในสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่ง เพื่อรองรับสถานการณ์อุบัติภัยที่อาจเกิดจากสถานประกอบการ โรงงานผลิตพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และโคมลอย รวมทั้งอันตรายจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟในการจัดงานเฉลิมฉลอง งานสังสรรค์ และงานเทศกาลสำคัญต่าง ๆ นอกจากนั้น ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานเขตและสำนักอนามัย กทม. เพื่อตรวจสอบสถานที่เก็บ ทำ หรือจำหน่ายดอกไม้ไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายและตรวจสอบโรงงานและสถานประกอบการได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้เปิดดำเนินกิจการดังกล่าวในพื้นที่หรือไม่ต่อไป
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า โรงงานผลิตพลุ ดอกไม้เพลิง เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภท 12 (14) การผลิต สะสม ขนส่งดอกไม้เพลิง หรือสารเคมีอันเป็นส่วนประกอบในการผลิตดอกไม้เพลิง ตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 ซึ่งต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของ สนอ.พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่มีสถานประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ และโคมลอย แต่มีสถานประกอบการในลักษณะการสะสม เพื่อการค้า จำนวน 3 ราย อย่างไรก็ตาม สนอ.มีแผนการตรวจสถานที่จำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิงในช่วงเทศกาลลอยกระทงเป็นประจำทุกปี และได้ประสานความร่วมมือสำนักงาน 50 เขต ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่สะสม จำหน่ายดอกไม้ไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ความปลอดภัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยทั่วไปร้านค้าจะสะสมและจำหน่ายพลุ ดอกไม้เพลิง เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในเทศกาลลอยกระทงเท่านั้น ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครได้มีประกาศ กทม.เรื่อง การขอรับใบอนุญาต การอนุญาต และแผนการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันขึ้นไปสู่อากาศ พ.ศ.2562 โดยให้ยื่นคำขออนุญาตและจัดให้แผนการป้องกันเหตุอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมแผนผังบริเวณที่จะจุดต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่
นอกจากนั้น สนอ.ได้ประสานสำนักงานเขตที่อยู่ในพื้นที่บริเวณรอยต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ประสานสถานประกอบการโรงแรม สถานบริการ ที่อาจมีการจุดพลุในช่วงเทศกาลต่าง ๆ และจุดพลุบนเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดำเนินการตามประกาศ กทม.ดังกล่าวโดยเคร่งครัด และมีหนังสือประสานกรมเจ้าท่าตรวจตราเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาให้ดำเนินการตามประกาศ กทม.และห้ามมิให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้พักอาศัยใกล้เคียง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงข้อควรระวังก่อนการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ตลอดจนหลักเกณฑ์เพื่อความปลอดภัยในการผลิต สะสม และขนส่งดอกไม้เพลิงผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
กทม.เร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำย่านรามคำแหง
นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม.กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังย่านรามคำแหงว่าบริเวณย่านรามคำแหง พื้นดินมีระดับต่ำ เมื่อมีฝนหนักจะเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งและจะใช้ระยะเวลาระบายน้ำนานกว่าพื้นที่อื่น ๆ เนื่องจากน้ำจะไหลลงมารวมกันที่พื้นที่ต่ำก่อน แล้วจึงค่อยระบายลงสู่คลองระบายน้ำ ซึ่งตามกำลังสูบระบายน้ำของเครื่องสูบน้ำและปัญหาน้ำท่วมบริเวณที่ต่ำ จึงมีระยะเวลานานกว่าพื้นที่อื่น โดยแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุและเหมาะสมที่สุดคือ การเก็บกัก หรือชะลอน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกไว้ในแก้มลิงก่อนระยะเวลาหนึ่ง แล้วจึงค่อยผ่อนระบายลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะ เมื่อฝนหยุดตก ระบบระบายน้ำสาธารณะจะสามารถรองรับปริมาณน้ำท่าที่จะระบายออกจากพื้นที่แก้มลิงลงสู่ระบบระบายน้ำสาธารณะได้โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำล้นระบบระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ต่ำได้ ส่วนกรณีมีข้อเสนอแนะการทำแก้มลิงใต้ที่จอดรถของราชมังคลากีฬาสถาน เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และแก้มลิงที่เสนอให้สร้างต้องก่อสร้างใต้ดิน จึงควรจะต้องศึกษา สำรวจ เพื่อจัดทำแบบรูปให้เหมาะสม รอบคอบ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบกับพื้นที่ที่จะก่อสร้างและพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งต้องให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับระบบระบายน้ำในพื้นที่ปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ ซึ่ง กทม.จะนำกรณีดังกล่าวไปศึกษา เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม.มีโครงการปรับปรุงถนนรามคำแหง 24 และถนนหัวหมาก ซึ่งมีงานปรับปรุงท่อระบายน้ำเดิมให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น สามารถรองรับน้ำและช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในชุมชนบริเวณถนนรามคำแหง 24 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ กกท. (สนามราชมังคลากีฬาสถาน) ได้ ส่วนการจัดทำแก้มลิงใต้ดิน (Water Bank) ปัจจุบัน กทม.ได้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสมและเปิดใช้งานแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน สน.บางเขน บ่อหน่วงน้ำใต้ดินสุทธิพร 2 บ่อหน่วงน้ำใต้ดินรัชวิภา และบ่อหน่วงน้ำใต้ดินใต้สะพานข้ามแยกถนนศรีนครินทร์ตัดถนนกรุงเทพกรีฑา และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีกหนึ่งแห่ง
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณพื้นที่รามคำแหงในระยะยาว กทม.ได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบระบายน้ำในพื้นที่บริเวณรามคำแหง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น ปรับปรุงสถานีสูบน้ำคลองจิต สถานีสูบน้ำคลองจิก สถานีสูบน้ำ สน.หัวหมาก ปรับปรุงท่อระบายน้ำ และอยู่ระหว่างออกแบบปรับปรุงอีกหนึ่งแห่ง นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน หรือเจ้าของพื้นที่ต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ กกท.เพื่อวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่รามคำแหงให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก