(21 ก.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมเวทีนำเสนอความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 1 โรงแรมรามาการ์เด้น เขตหลักสี่ โดยมี ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้บริหารหน่วยงาน และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจากกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย กว่า 100 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสส. กับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาแผนบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) มุ่งบูรณาการงานเสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยใช้ทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี และต้นทุนองค์ความรู้ คน ทรัพยากร กับนโยบาย 9 ดี กรุงเทพฯ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เป็นกรอบดำเนินงาน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูพื้นที่เป็นหลัก มียุทธศาสตร์ในการทำงาน 200 กว่าข้อ ได้นำเอานโยบายมาแมตช์กับยุทธศาสตร์ 5 ปี ของ สสส. เอาตัวชี้วัดต่าง ๆ มาประสานร่วมกัน การทำงานร่วมกันระหว่าง สสส. กับ กทม. 1 ปีที่ผ่านมา มีแซนด์บ็อกซ์หรือนำร่องหลายอัน มีทั้งดีและที่ยังไม่สำเร็จ วันนี้เป็นการถอดบทเรียนร่วมกัน สิ่งที่ดีต้องกระจายให้ครบ 50 เขตหรือมากที่สุด ซึ่งเรื่องต่อมาที่ กทม. อยากสนับสนุนคือเรื่องกลไกเพราะ สสส. ทำเรื่องกลไกเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาคประชาสังคมหรือพื้นที่ กทม. ต้องเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยทำให้โหนดพวกนี้เข้มแข็ง ซึ่งโชคดีที่ กทม. มีหลายนโยบายที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เช่น นโยบาย 200,000 บาท ให้ชุมชน โดย สสส. ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากส่วนตรงนี้เป็นการหนุนเสริมไม่ได้ทับซ้อนกัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนอื่นจากหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน ซึ่งการหนุนเสริมลักษณะนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญ
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกเรื่องคือเรื่องระเบียบและข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร หลายอย่างทำในเรื่องซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์แล้ว แต่ถ้าระเบียบยังไม่เปลี่ยนก็ถึงทางตันได้ สิ่งที่ กทม. ต้องทำด้วยคือการปรับระเบียบบางอย่างให้ปลดล็อกหลายๆ อย่าง เพื่อตอบโจทย์และตอบเป้าของ 2 องค์กร เช่น ชุมชนต่ำกว่า 100 หลังคาเรือน หรือการอยู่อาศัยในเมืองมีความเป็นชุมชนน้อยลง มีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ขณะที่ไม่มีการสนับสนุนปัจเจกแต่สนับสนุนการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิม จึงต้องมีการหารือร่วมกัน ก็หวังว่าจะมีการถอดบทเรียนร่วมกันเรื่อย ๆ
รองผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการคุยกับ กทม. และภาคี มาประมาณ 1 ปีแล้ว ขณะนี้มีพื้นที่นำร่องทั่วกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นประเด็นงานอะไร เช่น ประเด็นงานชุมชนเข้มแข็งมี 200 กว่าชุมชนใน 10 เขต หรือประเด็นงานระบบเติมเต็มก็ทำนำร่องในพื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้นำทุนเดิมจากงานของ สสส. รวมเข้ากับงานของ กทม. เป็น 1 ปีที่มีการทดลองทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและรูปธรรมชัดเจน เบื้องต้นวันนี้คาดว่าจะมีการทำงานร่วมกันใน 3 กลุ่มงาน คือ เรื่องแรก การใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ เรื่องที่สอง เรื่องของกลุ่มเด็กเปราะบาง จริง ๆ ชีวิตของเด็กอาจไม่ได้เสี่ยงมาตั้งแต่เกิด แต่สภาพของสังคมนำพาให้เกิดความเสี่ยงจนมีผลกระทบต่อชีวิตในอนาคต จะมีการนำแพลตฟอร์มเติมเต็มที่ดีไซด์แบบไร้รอยต่อมาทำงานโดยดูแต่ขั้นต้นก่อนเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุดูเกี่ยวกับการเยียวยา และการฟื้นฟูให้กลับสู่สังคม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขยายผล ส่วนเรื่องสุดท้ายเรื่องโหนดพี่เลี้ยงทำงานเชื่อมต่อระหว่างกลไกของ กทม. หรือภาครัฐ กับพื้นที่ปฏิบัติการข้างล่างของชุมชนหรือภาคประชาสังคมให้สามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้ ซึ่ง 3 เรื่องนี้ที่จะนำร่องขยายผลในปีต่อไป
——————————— (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)