(21 ก.ค. 66) นายสุเมธ อมรศรีวรากุล ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อม พ.จ.อ. ปรีชา ละมัยสานนท์ หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ ลงพื้นที่ตรวจแนะนำผู้ประกอบกิจการสะสมสารเคมีด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย ภายในสถานประกอบการ ซ.สาธุประดิษฐ์ 49 ถ.สาธุประดิษฐ์ เพื่อรอจำหน่าย ซึ่งประกอบกิจการเก็บรักษาและลำเลียงเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมีซึ่งไม่ใช่ปุ๋ย เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัย การจัดเก็บชนิดของสารเคมีของแต่ละประเภท โดยให้ผู้ประกอบการดำเนินการติดตั้งแสดงข้อความการจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ชื่อสารเคมีที่มีการเก็บหรือใช้ จัดให้มีฉลาก และเอกสารข้อมูลความปลอดภัยที่เป็นภาษาไทยไว้ที่ภาชนะบรรจุสารเคมีหรือชั้นวางจัดเก็บ เพื่อลดผลกระทบที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุต่อประชาชน ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ในโรงงานและชุมชนโดยรอบโรงงาน
.
ส่วนมาตรการความปลอดภัยภายในสถานจัดเก็บ มอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจแนะนำเกี่ยวกับการตรวจสอบถังดับเพลิงคอยตรวจเช็คและบำรุงรักษา ถังดับเพลิงเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต่อเหตุไม่คาดคิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ โดยการติดตั้งหลีกในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย ตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน หากเป็นถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ 5-6 ครั้ง ทุกเดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน หากมีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็คสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่ สอบแรงดันภายในถังดับเพลิงจากเข็มในมาตรวัดแรงดัน ถ้าเข็มอยู่ในแนวตั้ง 90 องศา แสดงว่า แรงดันปกติ (195psi) หรือในพื้นที่สีเขียวแสดงว่าอยู่ใน สภาพพร้อมใช้ เข็มเอียงไปทางด้านซ้ายมือนอกพื้นที่สีเขียว แสดงว่า แรงดันตํ่า (RECHARGE) หรือต่ำกว่าแรงดันปกติ 195psi แรงดันภายในถังต่ำกว่าปกติอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน ควรติดต่อบริษัทผู้ให้บริการทันทีเพื่อทำการอัด ฉีดแรงดันใหม่ แต่ถ้าหากเข็มเอียงไปทางด้านขาวมือนอกพื้นที่สีเขียว แสดงว่าแรงดันเกิน(OVERCHARGE) หรือสูงกว่าแรงดันปกติ (195psi) แสดงว่าแรงดันภายในถังสูงกว่าปกติสภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออกหากแรงดันขึ้นสูงเกิน (1000psi) อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้ ควรติดต่อบริษัทผู้ให้บริการให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
————————————————