กทม.เข้มงวดตรวจสอบสุขลักษณะ – คุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญพบผ่านเกณฑ์ 94%
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการสำรวจตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ 50 เขต และการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันควบคุมคุณภาพมาตรฐานว่า ผู้บริหาร กทม.มีความห่วงใยเรื่องตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จึงมีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตตรวจสอบด้านสุขลักษณะ (กายภาพ) ตรวจคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและกวดขันให้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่มีใบอนุญาตดำเนินการขอใบอนุญาต โดยตั้งแต่เดือน เม.ย.66 ถึงปัจจุบัน สำนักงานเขตตรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ 3,031 แห่ง พบว่า มีใบอนุญาต 2,759 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 272 แห่ง ซึ่งในรายที่ยังไม่มีใบอนุญาตได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข (นส.1)
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบด้านสุขลักษณะ (กายภาพ) ทั้งหมด 1,430 แห่ง ผ่าน 1,245 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 94.05 ไม่ผ่าน 85 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 5.95 และตรวจสอบด้านคุณภาพน้ำด้วยน้ำยาทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง (อ.11) จำนวน 1,401 แห่ง ผ่าน 1,385 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 98.85 ไม่ผ่าน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.15 โดยในรายที่ไม่ผ่าน สำนักงานเขตได้แจ้งผู้ประกอบการแก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน กทม.ได้กำกับดูแลสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานเขตตรวจสุขลักษณะตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบคุณภาพน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทุก ๆ 4 เดือน ด้วยน้ำยาทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง (อ.11) เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้ประชาชน ได้บริโภคน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ส่วนการดำเนินการด้านกฎหมายของสำนักงานเขตกรณีตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ในรายที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ออกคำแนะนำด้วยแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 (นส.1) หากไม่ดำเนินการขออนุญาตให้ส่งดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนมาตรา 33 มีโทษตามมาตรา 71 การประกอบการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดทำสื่อให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์แนวทางการเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญสำหรับประชาชน ดังนี้ (1) สภาพภายนอกตู้น้ำดื่ม ควรเลือกตู้ที่สะอาด บริเวณที่วางภาชนะบรรจุที่วางรองรับน้ำรวมทั้งหัวจ่ายน้ำจะต้องสะอาดไม่มีคราบสนิม หรือตะไคร่น้ำ (2) การตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง พร้อมทั้งติดสติกเกอร์แสดงข้อความบอกวัน เวลาที่เข้าตรวจสอบ โดยให้สังเกตข้อความดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค (3) การสังเกตตรวจดูสภาพน้ำที่ได้จากตู้น้ำดื่มด้วยตนเอง ให้สังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ มีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร โดยเปรียบเทียบจากคุณภาพน้ำที่เคยใช้เป็นประจำ หรือจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญตู้อื่น ๆ บริเวณใกล้เคียง (4) ไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือ หรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม (5) ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่ม ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ และควรล้างภาชนะบรรจุด้วยน้ำที่กดจากตู้น้ำดื่มด้วยปริมาณเล็กน้อย เขย่าให้ทั่วภาชนะบรรจุแล้วเททิ้ง ทำเช่นนี้ 1-2 ครั้ง แล้วจึงเติมน้ำต่อ เพื่อความสะอาดและปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กทม.และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะได้ประชุมหารือแนวทางและการประสานความร่วมมือกำกับดูแลตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯ และจะได้นำแนวทางจากการประชุมเข้าหารือร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลทั้ง 50 สำนักงานเขตในวันที่ 27 ก.ค.นี้ เพื่อเร่งรัด กำกับ ติดตามให้ผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญดูแลและบำรุงรักษาตู้น้ำดื่มให้ได้มาตรฐานต่อไป
กทม.ตรวจสอบเหตุคานปูนระเบียงอาคารเรียนวัดบางเตยร่วงหล่น กำชับมาตรการความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง
นายนันทพงศ์ แก้วศรี ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุคานปูนระเบียงอาคารเรียนวัดบางเตย เขตบึงกุ่ม หล่นทับคนงานเสียชีวิตว่า สำนักงานเขตฯ ได้เข้าร่วมตรวจสอบและปิดกั้นบริเวณดังกล่าว จากสภาพคานและพื้นระเบียงที่เกิดการวิบัติ เป็นคานและพื้นระเบียงด้านทิศตะวันออกของอาคารศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ มีขนาดประมาณ 1.60 x 6.00 เมตร ร่วงหล่นจากตัวอาคารหลัก ส่วนสาเหตุที่ปรากฏขณะตรวจสอบสันนิษฐานว่า เกิดจากการสร้างคานและพื้นระเบียงเพิ่มจากตัวอาคารหลัก โดยลักษณะการเสียบเหล็ก เพื่อยึดคานระเบียงเข้ากับตัวอาคารหลักพบว่า มีการก่อสร้างที่อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม จึงทำให้เกิดการวิบัติเฉพาะส่วนของคานและพื้นระเบียงดังกล่าว ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือแจ้งต่อไวยาวัจกรของวัดบางเตยให้ชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงพิจารณาดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะได้มีมาตรการเพิ่มเติมโดยแจ้งเจ้าของอาคารให้ทราบว่า ขณะก่อสร้างโครงสร้างอาคาร ควรให้ผู้ควบคุมงานรายงานการก่อสร้างอาคารต่อเจ้าของอาคารอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเสริมเหล็กโครงสร้างอาคาร ผู้ควบคุมงานต้องอธิบายการเสริมเหล็กว่า ถูกต้องตามแบบหรือไม่ และเจ้าของอาคาร หรือตัวแทนควรจะต้องร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อเพิ่มความเข้มงวดจากเจ้าของอาคารอีกทางหนึ่ง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า จากการตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุเป็นงานก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล.2 ชั้น เพื่อใช้เป็นศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์ของวัดบางเตย ซอยนวมินทร์ 60 ถนนนวมินทร์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ในส่วนที่มีการวิบัติเป็นคานและพื้นของระเบียง ชั้น 2 ด้านทิศตะวันออกของอาคาร ซึ่งไม่ได้ก่อสร้างพร้อมกับตัวอาคารตั้งแต่แรก แต่เจาะเสียบเหล็กส่วนของคานและพื้นระเบียงยึดกับโครงสร้างเดิม ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลักวิศวกรรม ทำให้เกิดการวิบัติในส่วนดังกล่าว
ทั้งนี้ การพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารประเภทต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนย.ได้พิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้นำหนังสือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาต หรือออกใบรับแจ้งการก่อสร้าง รวมทั้งการตรวจสอบการก่อสร้าง ดัดแปลง มีความถูกต้อง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมาย เพื่อป้องกันผลกระทบในด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง ในระหว่างการก่อสร้างให้เจ้าหน้าที่เข้าไปกำชับผู้ควบคุมงานก่อสร้างปฏิบัติตามหลักวิชาชีพวิศวกรรมอย่างเคร่งครัด และเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง
กทม.ตรวจสอบรอยฉาบปูน ประเมินความปลอดภัยโครงสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีสื่อออนไลน์โพสต์ภาพเสาตอม่อที่มีรอยฉาบปูนทับและข้อความระบุประชาชนกังวลเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช – ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง ภายหลังเกิดเหตุพังถล่มว่า สนย.ได้ตรวจสอบรอยฉาบปูนดังกล่าวพบว่า เป็นการฉาบแต่งผิวรอยต่อ เพื่อความเรียบร้อยของรอยต่อเสาคอนกรีต ซึ่งมีการแบ่งเทหล่อคอนกรีตเป็นส่วน ๆ อย่างไรก็ตาม โครงการฯ จะต้องตรวจสอบประเมินความปลอดภัยโครงสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมดโดยผู้เชี่ยวชาญก่อน จึงจะพิจารณาเรื่องการดำเนินการก่อสร้างต่อไป
เขตสายไหมตรวจวัดระดับเสียงรบกวน แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน
นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากเพื่อนบ้านที่เล่นกีต้าร์ไฟฟ้าในช่วงกลางวันและใช้เครื่องมือช่าง (เลื่อยไฟฟ้า) เสียงดังในช่วงกลางคืนว่า บ้านที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ผู้ร้องได้ร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบตั้งแต่เดือน เม.ย.65 พร้อมทั้งติดตามตรวจสอบเป็นระยะ โดยกรณีสุนัขเห่าส่งเสียงดังพบว่า มีการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ชิสุ 1 ตัว โดยจะนำสุนัขเข้ามาที่บ้านเฉพาะช่วงเวลากลางวัน ซึ่งสุนัขจะส่งเสียงเห่าบ้างเป็นบางครั้งเมื่อมีสิ่งเร้า ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจวัดระดับเสียงรบกวน โดยตั้งเครื่องวัดระดับเสียงบริเวณหลังบ้านผู้ร้อง ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้เคียงกับแหล่งกำเนิดเสียง ขณะตรวจวัดระดับเสียง ผู้ถูกร้องได้เปิดวิทยุแบบพกพาที่มีกำลังไฟฟ้า ขนาด 0.7 วัตต์ และเครื่องเล่นเพลงบลูทูธ รวมถึงการเล่นกีต้าร์โปร่งในระดับเสียงที่เปิดปกติเป็นประจำทุกวัน จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 (ครั้งที่ 1) และเมื่อวันที่ 4 เม.ย.65 (ครั้งที่ 2) โดยผลการตรวจวัดและการคำนวณค่าระดับเสียงรบกวนทั้งสองครั้ง มีค่าไม่เกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกรมอนามัย เรื่องกำหนดมาตรฐานเหตุรำคาญ กรณีเสียงรบกวน และตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 29 (พ.ศ. 2550) เรื่องค่าระดับเสียงรบกวน กำหนดให้ระดับการรบกวนมากกว่า 10 เดซิเบลเอ เป็นเสียงรบกวน (ผลการตรวจวัดไม่เป็นเหตุรำคาญ) และได้แจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ร้องทราบแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 และวันที่ 3 พ.ย.65 สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามสอบถามจากผู้พักอาศัยใกล้เคียง จำนวน 4 หลังคาเรือน ให้ข้อมูลว่าไม่ได้รับความเดือดร้อนจากบ้านหลังดังกล่าว พร้อมลงลายมือชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ติดตามผลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.66 ไม่พบการก่อให้เกิดเสียงดังตามแจ้งแต่อย่างใด โดยสำนักงานเขตฯ พิจารณาแล้ว กรณีเรื่องร้องเรียนดังกล่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และจากการตรวจวัดระดับเสียงไม่เกินค่ามาตรฐาน จึงไม่เข้าข่ายเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุขฯ รวมถึงการสอบถามประชาชนผู้อยู่อาศัยข้างเคียงไม่มีผู้ใดได้รับความเดือดร้อน การเปิดวิทยุที่ไม่รบกวนผู้อื่น หรือการกระทำในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ผู้ร้องเรียน เป็นวิถีการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ถูกร้องเรียน ซึ่งสามารถกระทำได้ตามสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายให้กระทำ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับเหตุรำคาญให้ผู้ร้องเรียนทราบแล้ว