กทม.ติดตามกวดขันร้านปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู สุกี้ ให้ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม.ตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารประเภทปิ้งย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม.ได้ควบคุมกำกับสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยมีข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2545 ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลการประกอบปรุงจำหน่ายอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารให้ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัย โดยกำหนดห้ามใช้ก๊าซหุงต้ม เพื่อปรุงประกอบอาหารบนโต๊ะรับประทานอาหาร และ กทม.ได้มีข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 มาใช้บังคับ โดยในหมวดที่ 3 ข้อ 30 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร และข้อ 31 ห้ามใช้เมทานอล หรือเมทิลแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร เว้นแต่เป็นการใช้แอลกอฮอล์แข็งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท ตามมาตรา 73 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ สำนักงานเขตได้ตรวจติดตามและกวดขันเกี่ยวกับการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงบนโต๊ะ หรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น ร้านปิ้งย่าง หมูกระทะ ชาบู สุกี้ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อควบคุมกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้น สนอ.ยังได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานสุขาภิบาลอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารพื้นที่กรุงเทพฯ เผยแพร่ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ.2565 รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นร้านอาหารที่มีการใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงบนโต๊ะรับประทานอาหาร สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือแจ้งผ่านระบบ Traffy Fondue เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
กทม.ตรวจสอบเหตุฝาบ่อท่อร้อยสายไฟใต้ดินทรุดตัวบริเวณถนนรามอินทรา เข้มงวดตรวจสอบคืนพื้นผิวจราจร
นายสุขุม อังอนันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตบางเขน รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตบางเขน กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุฝาบ่อท่อร้อยสายไฟฟ้าลงใต้ดินทรุดตัวบริเวณถนนรามอินทรา หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทราว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบว่า จุดที่ถนนทรุดตัวเป็นงานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ขนาด 4×5 เมตร ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จากการประสาน กฟน.ได้รับแจ้งว่า เนื่องจากมีการปิดฝาบ่อชั่วคราวไว้และมีส่วนที่ฝาบ่อชั่วคราวส่วนที่ขยายอยู่นอกบ่อพัก ซึ่งวางอยู่บนชั้นดินด้านข้างบ่อพัก เมื่อเกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้ชั้นดินไหลไปกับน้ำลงสู่บ่อพัก ทำให้ฝาบ่อพักชั่วคราวทรุดตัว ซึ่ง กฟน.ได้ซ่อมแซมแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยบดอัดชั้นพื้นฐาน พร้อมจัดซ่อมด้วยการเทคอนกรีตแทนฝาบ่อพักชั่วคราวดังกล่าว
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า จุดที่ถนนทรุดตัวอยู่บนถนนรามอินทราฝั่งขาออก ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) และอยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นอกจากนั้น ยังมีงานก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน.ตามแนวรถไฟฟ้า เบื้องต้นผู้รับเหมาของ กฟน.ได้ซ่อมแซมแก้ไขพื้นถนนที่ทรุดตัวบริเวณดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันสามารถเปิดการจราจรได้เป็นปกติแล้ว
ส่วนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ สนย.ได้ประสาน รฟม.และหน่วยงานสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสภาพผิวจราจรให้พร้อมใช้งาน และตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง รวมถึงเร่งปรับปรุงถนน เพื่อคืนพื้นที่ผิวจราจรให้เรียบร้อยแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนและเพิ่มความคล่องตัวในการสัญจร
กทม.เร่งแก้ปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างดับชำรุดบริเวณริมถนนพุทธบูชา
นายพงค์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนไฟฟ้าส่องสว่างดับชำรุดบริเวณริมถนนพุทธบูชา ช่วงระหว่างโรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) ถึงหน้าสนามแบดมินตัน พีวาย สปอร์ตคลับว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งบริเวณปากซอยพุทธบูชา 26/2 ถึงปากซอยพุทธบูชา 37 พบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะดับชำรุด 4 ดวง ทำให้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงทางโค้งมืดมากและอาจเป็นอันตรายกับประชาชนที่สัญจร สำนักงานเขตฯ จึงได้ประสานสำนักการโยธา กทม.ซึ่งดูแลรับผิดชอบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะในบริเวณดังกล่าวให้เร่งรัดดำเนินการแก้ไข เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
เขตจตุจักรตรวจสอบแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณห้าแยกลาดพร้าว
นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม.กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณช่วงห้าแยกลาดพร้าว เขตจตุจักร ภายหลังมีฝนตกหนักว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.66 เวลาประมาณ 18.00 น. มีฝนตกหนักในพื้นที่เขตจตุจักร วัดปริมาณน้ำฝนได้ 72 มิลลิเมตร ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่โดยเฉพาะห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งสำนักงานเขตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขขยะอุดตันบริเวณตะแกรงระบายน้ำริมถนน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจอำนวยการจราจรและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาเครื่องยนต์รถขัดข้อง นอกจากนั้น ยังได้ประสานสำนักการระบายน้ำ กทม.เดินเครื่องสูบน้ำบริเวณหน้าโรงเรียนหอวัง ทำให้ระดับน้ำบริเวณห้าแยกลาดพร้าวลดลงและแห้งไปในเวลาประมาณ 20.00 น. จากนั้นได้ตรวจสอบทั่วพื้นที่เขตพบว่า ไม่มีน้ำท่วมขังในถนนสายหลักแล้ว