กทม.เร่งสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
นางสาวอำภา นรนาถตระกูล ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กทม.กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากปีที่ผ่านมาต้องเสียภาษีในอัตราที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังกังวลหากยกเลิกการอนุญาตการทำเกษตรแบบเฉพาะกิจ อาจส่งผลให้พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ลดลงว่า กรุงเทพมหานครใช้หลักเกณฑ์ แนวทางการประเมิน และการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 บัญญัติให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่แตกต่างกันตามการใช้ประโยชน์ ดังนี้ (1) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 – 0.1 (2) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 – 0.1 (3) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่น เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 – 0.7 และ (4) ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 – 0.7 ทั้งนี้ มาตรา 43 บัญญัติให้ในกรณีที่ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้นต้องเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันให้เรียกเก็บภาษีในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.3 และหากยังทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพอีก ให้เพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 0.3 ในทุกสามปี ส่งผลให้ในปีภาษี พ.ศ.2566 ที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพตลอดสามปีที่ผ่านมา ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็นอัตราร้อยละ 0.6
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการยกเลิกการอนุญาตการทำเกษตรแบบเฉพาะกิจ เนื่องจากเจ้าของที่ดินจำนวนมากได้นำต้นไม้ หรือพืชผลทางการเกษตรมาปลูกในที่ดินรกร้างว่างเปล่า ทั้งด้วยมีเจตนาเพื่อทำการเกษตรอย่างแท้จริง และเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีในอัตราทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ (เกษตรเฉพาะกิจ) ซึ่งการใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่จะถือเป็นการประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และการประกอบการเกษตรตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกรฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม และต้องมีจำนวนของพืช หรือสัตว์แต่ละชนิดตามอัตราที่กำหนด ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ดังนั้น การใช้ประโยชน์ ในที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่จะถือเป็นการประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เจ้าของที่ดินจะต้องดูแลบำรุงรักษาต้นไม้ หรือพืชผลที่ปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตนำมาบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม กรณีการทำเกษตรเฉพาะกิจโดยเจ้าของที่ดินเพียงแต่นำต้นไม้ หรือพืชผลมาปลูก แต่ไม่ได้ดูแลบำรุงรักษาตามควรแก่สภาพ จึงอาจถือได้ว่า ไม่ใช่การประกอบการเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครจะได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป
กทม.ตรวจสอบคุณภาพงานปรับปรุงผิวจราจรหน้าเดอะมอลล์ ท่าพระ กำหนดแล้วเสร็จ ก.ค.นี้
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตคุณภาพการก่อสร้างทางเท้าบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ท่าพระ ว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา – ราชพฤกษ์ ซึ่งเปิดใช้การจราจรในอุโมงค์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 และปัจจุบันได้ก่อสร้างผิวจราจรถาวรและถนนระดับราบแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานได้ครบทุกช่องจราจรตลอดแนวโครงการทั้งสองฝั่ง ซึ่งคงเหลืองานทางเท้า งานปูผิวแอสฟัลต์ถนนระดับราบคู่ขนาน ทางลอดฝั่งซ้ายช่วงตั้งแต่ทางเข้าลานจอดรถเดอะมอลล์ ท่าพระ ถึงซอยรัชดาภิเษก 8 และบริเวณกลางแยกไฟแดง พร้อมงานจราจรสงเคราะห์ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.66 โดยจะดำเนินงานส่วนที่เหลือเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจราจร
ทั้งนี้ สนย.ได้ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับจ้างอย่างต่อเนื่องในแต่ละขั้นตอนการทำงาน คอนกรีตถนนและทางเท้าได้ติดตั้งเหล็กเสริมถูกต้องตามรูปแบบ แต่จะมีเพียงบางส่วนที่การเทคอนกรีตเลยพื้นที่ทางเท้าออกไป เป็นคอนกรีตส่วนเกินที่ต้องตัดรื้อออก และบางจุดเป็นทางเดินชั่วคราวที่เทปูนทรายไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในขณะที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ซึ่งต้องรื้อออกเพื่อก่อสร้างทางเท้าตามรูปแบบต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สนย.อยู่ระหว่างเร่งรัดงานปูผิวจราจรแอสฟัลต์และงานจราจรสงเคราะห์ถนนระดับราบให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค.66 หลังจากนั้นจะแก้ไขผิวจราจรแอสฟัลต์ในอุโมงค์ทางลอดรัชดา – ราชพฤกษ์ต่อไป
กทม.หมุนเวียนตั้งจุดตรวจจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์ตั้งข้อสังเกตภายหลัง กทม.นำเทคโนโลยี AI ร่วมกับกล้อง CCTV ตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า พบผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างใช้วิธีเข็นรถเดินบนทางเท้าแทนการขับขี่ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ว่า การจอด หรือขับขี่รถบนทางเท้าเป็นความผิดตามมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งการกระทำที่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าวคือ การจอด หรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้า อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใช้รถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการขับขี่รถบนทางเท้าเป็นการเดินเข็นรถบนทางเท้า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะไม่เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนผู้สัญจรบนทางเท้า เพราะการเดินเข็นรถจะมีความเร็วไม่มากเหมือนการขับขี่รถบนทางเท้า อุบัติเหตุเฉี่ยวชนจะเกิดขึ้นได้น้อยมาก
ส่วนข้อกังวลเมื่อพ้นจากมุมกล้องแล้วจะกลับมาขับขี่บนทางเท้าเหมือนเดิม กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดตรวจจับปรับผู้ฝ่าฝืนขับขี่รถบนทางเท้า สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทางเท้า โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตั้งตามจุดต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้ปรับพฤติกรรมการขับขี่ยวดยานพาหนะของตนเองให้ถูกต้องตามกฎจราจรและหลีกเลี่ยงการขับขี่บนทางเท้า ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อตนเองและผู้อื่น