(4 ก.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกะปิ ประกอบด้วย
ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางกะปิ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน เริ่มตั้งแต่กดรับบัตรคิว ตรวจสอบหลักฐาน พิมพ์คำร้อง ถ่ายรูป เก็บค่าธรรมเนียม พิมพ์บัตร จนเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำงานทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่รวมเวลารอคอย โดยขึ้นอยู่กับจำนวนประชาชนในแต่ละวันที่มารับบริการ ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างรวดเร็ว จากนั้นได้ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 57,226 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 53,932 แห่ง ห้องชุด 58,973 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 170,131 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตบางกะปิ มีข้าราชการและบุคลากร 906 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ 3.ขยะอันตราย 4.ขยะทั่วไป มีการตั้งจุดพักสำหรับคัดแยกขยะ 4 ประเภท ในแต่ละฝ่ายจะมีแม่บ้านแต่ละชั้นเก็บรวบรวมขยะที่คัดแยกทุกวัน นำลงมาทิ้งที่จุดพักขยะด้านล่างของอาคาร รอฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำรถขนขยะเข้าจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 331 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 173 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 54 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 102 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 0.80 กิโลกรัม/เดือน
สำรวจสวน 15 นาที สวนผักปลอดสารพิษ ถนนศรีบูรพา (แปลงปันสุข) ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่รกร้างและเสื่อมโทรม ให้เป็นสวนผักปลอดสารและสวนหย่อม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกผักปลอดสารและการปลูกผักไฮโดรโปรนิค มีการแบ่งปันผักสวนครัวให้แก่บุคลากรของเขตฯ และประชาชนในละแวกใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณริมคลองแสนแสบให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น จัดทำเป็นจุดเช็คอินของเขตฯ รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชน ปัจจุบันในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสาธารณะสวนพฤกษชาติคลองจั่น พื้นที่ 34 ไร่ 2.สวนปิยภิรมย์ พื้นที่ 12 ไร่ 3.ลานบางกะปิภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา (อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม) 4.จุดเช็คอินริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 1 งาน 37 ตารางวา 5.สวนหย่อมศรีบูรพา (แปลงปันสุข) พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 14 ตารางวา 6.ลานกีฬาพัฒน์ 1 พื้นที่ 7 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา 7.สวนทำฟาร์มดี พื้นที่ 4 ไร่ 1 งาน 22 ตารางวา (อยู่ในความดูแลของเอกชน) 8.ลานกีฬาชุมชนหมู่บ้านสินธร พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 62 ตารางวา (อยู่ในความดูแลของเอกชน) 9.สวนหย่อมแยกรามคำแหง (สวนหย่อมพระราม 9) พื้นที่ 1 งาน 62 ตารางวา 10.สวนหย่อมแยกรามคำแหง (โค้งเอวอน) พื้นที่ 1 งาน 62 ตาราง 11.สวนป่า (วงในทางต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ถนนกรุงเทพกรีฑา) พื้นที่ 4 ไร่ 42 ตารางวา ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบประมาณราคา โดยเขตฯ ร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนป่า ในระยะแรกดำเนินการปลูกต้นไม้ โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้จากบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีปลูกต้นไม้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 และ 12.แปลงสามเหลี่ยม (หน้าร้านสเต๊กสินธร) พื้นที่ 3 งาน 98 ตารางวา โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไม้บางส่วนจาก บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวน 15 นาที ในรูปแบบสวนหย่อม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชน 101 บึงทองหลาง พื้นที่ 27 ไร่ ประชากร 798 คน บ้านเรือน 138 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2556 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1. ขยะอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป 4.ขยะอันตราย ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ในส่วนของขยะอินทรีย์ จะนำไปทำน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,400 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,400 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 180 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจความเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยรามคำแหง 53-65 ผู้ค้า 66 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กวดขันร้านค้าที่ตั้งอยู่ภายในอาคาร ไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเขตฯ ได้ขีดสีตีเส้นสีแดงกำหนดไว้ รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย นอกจากนี้ ให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) ซึ่งมีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 3 แห่ง ประเภทอู่พ่นสียานยนต์ 18 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายไพรัตน์ เกษตรสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)