(30 มิ.ย. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะโฆษกของกรุงเทพมหานคร และนางสาวศุภร คุ้มวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร แถลงถึงกรณีกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งแนวทางการแต่งกาย และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่นั้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีประกาศเรื่องสิทธิเด็กและชุดลูกเสือ และล่าสุดได้มีบันทึกข้อความ 2 ฉบับ เรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผม และการแต่งกายของนักเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญมีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน-สิทธิมนุษยชน 2. การลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และ 3. การมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยทั้ง 2 เรื่อง อิงตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566
สำหรับเรื่องทรงผมจะอยู่บนพื้นฐานของสุขอนามัยที่ดี ส่งเสริมบุคลิกภาพ และความมั่นใจ ทำให้รู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกอับอายในโรงเรียน โดยระบุชัดเจนว่า ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผมทำให้อับอาย เป็นต้น
ส่วนแนวทางการแต่งกายของนักเรียน เป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทำแนวทางกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ จะเป็นชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดลูกเสือก็ได้ ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครสนับสนุนค่าชุดนักเรียนปีละ 1 ชุด และชุดพละหรือชุดลูกเสือปีละ 1 ชุด รวมเป็น 2 ชุด การออกหนังสือฉบับนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้โรงเรียนกับนักเรียนไปปรึกษาหรือหาแนวทางปฏิบัติร่วมกัน
ทั้งนี้ นักเรียนที่ต้องการใส่ชุดไปรเวท เช่น เสื้อยืด กางเกงยีนส์ สามารถทำได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสถานศึกษา และนักเรียน ประชุมพิจารณาความเหมาะสมร่วมกันก่อนประกาศใช้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีความแตกต่าง อยากให้เด็กนักเรียนมีอิสระและมีส่วนร่วม นอกจากนี้ บางโรงเรียนมีความแตกต่างเรื่องของศาสนาด้วย ดังนั้น จะทำได้รวดเร็วแค่ไหนจึงอยู่ที่ความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละโรงเรียน
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันคงทำไม่ได้ เราจึงประกาศให้แต่งชุดไปรเวทอย่างน้อย 1 วัน ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมเดิมมาก เพียงแต่ใส่กระบวนการการมีส่วนร่วม สิทธิและเสรีภาพของนักเรียนเข้าไป ส่วนจะทำอย่างไรหรือขยายไปเป็นสองวันหรือไม่ขึ้นอยู่กับโรงเรียน ต้องมีการถอดบทเรียนอีกครั้ง ไม่ได้ต้องการพลิกทันที ต้องการทำให้ค่อย ๆ ขยับไป คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของนักเรียน ที่ผ่านมาทำงานด้านการศึกษาประมาณ 20 โปรเจกต์ แต่โปรเจกต์นี้มีเด็กขอบคุณมามากที่สุด เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของยุคสมัย หากไม่หยิบขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะคงไม่สามารถเดินต่อได้ ค่อย ๆ ทำกันไป เรื่องนี้สามารถนำมาสอนเด็กได้ เป็นแบบ Active Learning สร้างการถกเถียงอย่างมีส่วนร่วม เป็นพื้นฐานในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ได้ ซึ่งทั้งหมดน่าจะเห็นแนวทางที่ชัดขึ้นในปีการศึกษาหน้า
รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจะมีการผ่อนปรนไม่ต้องใส่ชุดนักเรียนในวันศุกร์อยู่แล้ว ให้สามารถแต่งชุดไปรเวทได้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม แต่ว่าอาจมีข้อตกลงเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น การแต่งชุดผ้าไทย ซึ่งบางโรงเรียนมีการดำเนินการไปแล้ว ส่วนบางโรงเรียนที่ยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันก็จะต้องมีการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร มีการรับฟังความคิดเห็นให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน หาตรงกลางที่เหมาะสมร่วมกัน โดยทั้งเรื่องของการแต่งกายและการไว้ทรงผมนั้น มีรายละเอียดและระเบียบที่กำหนดเป็นแนวทางชัดเจนแล้ว การดำเนินการต่าง ๆ จะต้องไม่เป็นการกระทำที่รุนแรงหรือริดรอนสิทธิของนักเรียน รวมถึงหากเกิดการทำร้ายร่างกายนักเรียน ก็จะต้องมีการสอบสวน หากพบว่าผิดจริงก็จะลงโทษต่อไป
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ยกตัวอย่างโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปแล้วบางส่วน สภานักเรียนโรงเรียนนี้ได้มีการพูดคุยหารือกันแล้วนำข้อสรุปที่ได้มาหารือกับทางคณะกรรมการของโรงเรียน ซึ่งจุดเริ่มต้นต้องมาจากตัวเด็กนักเรียนก่อนแล้วก็มาหารือร่วมกันเพื่อได้แนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินการต่อไป
—————————-(พัทธนันท์…สปส. รายงาน)