(29 มิ.ย.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเข้าใช้งานในระบบ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอายุในการใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ซึ่งเขตฯ มีที่ดิน 28,017 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 32,482 แห่ง ห้องชุด 26,138 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 86,637 รายการ จากนั้นได้ติดตามการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตบางพลัด ระยะเวลาในการให้บริการประชาชนที่มาติดต่องานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่กดรับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด ซึ่งควรใช้ระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า ประสิทธิภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับความรวดเร็วในการเข้ารับบริการ
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามเกี่ยวกับการคัดแยกขยะภายในอาคารสำนักงานเขตบางพลัด มีข้าราชการและบุคลากร 473 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล เจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายจะคัดแยกขยะรีไซเคิลและนำไปจำหน่าย บางส่วนแม่บ้านจะเก็บรวบรวมและนำไปจำหน่าย ตั้งจุดรับพลาสติกกำพร้า จุดรับขวดพลาสติกช่วยหมอ กิจกรรมตักบาตรรักษ์โลก บางพลัดตลาดนัดมือสอง 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งถังรวบรวมเศษอาหารไว้ในห้องเตรียมอาหาร หรืออ่างล้างจานในห้องของแต่ละฝ่าย ยกเว้นฝ่ายทะเบียน ฝ่ายการคลัง ซึ่งเป็นส่วนบริการประชาชน เจ้าหน้าที่จะนำเศษอาหารที่เหลือไปทิ้งที่ถังรองรับในจุดที่กำหนด แม่บ้านจะเก็บรวบรวมนำไปทิ้งที่จุดคัดแยกขยะ ปัจจุบันเขตฯ จัดทำบ่อปุ๋ยหมักจากเศษอาหารและใบไม้บริเวณเรือนเพาะชำ เศษอาหารบางส่วนรวบรวมส่งให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตราย และจุดรวบรวมขยะอันตรายจากการปฏิบัติงานรถเก็บขนมูลฝอย รวบรวมส่งศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านจะเก็บรวบรวมไปไว้ที่จุดคัดแยกขยะรวม ตั้งถังรองรับมูลฝอยนอกอาคารสำหรับประชาชนทั่วไป และจุดคัดแยกขยะด้านหลังอาคาร ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,800 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,298 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 1,527 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 25 กิโลกรัม/เดือน (พลาสติกกำพร้า) ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 195 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 9.4 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จรัญ ราชวิถี จำกัด ถนนสิรินธร ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัย ค.ส.ล. ความสูง 28 ชั้น จำนวน 1 อาคาร เป็นโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้รับจ้างให้เทปูนเพิ่มเติมบริเวณด้านในที่เป็นพื้นหินคลุก ปรับปรุงบ่อพักน้ำบริเวณด้านหน้า เพิ่มความสูงของแนวรั้วตรงทางเข้าออกให้สูง 6 เมตร ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 23 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทถมดินท่าทราย 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ วัดทอง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 พื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน มีภิกษุและสามเณร 50 รูป พุทธศาสนิกชน 200 คน/กิจกรรม เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ อาหารที่เหลือจากการฉันของพระภิกษุสามเณร อาหารจากการประกอบเลี้ยงพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกิจกรรม นำไปทำปุ๋ยหมัก (ถังหมักรักษ์โลก) นอกจากนี้ วัดร่วมกับเขตฯ ทำน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในวัด ทำปุ๋ยหมักเศษอาหารกับใบไม้แห้งในบ่อซีเมนต์ 2.ขยะรีไซเคิล แยกคัดขยะและนำไปกำจัด ดังนี้ ขวดพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม นำไปขายให้โรงงานรีไซเคิล ส่วนขยะรีไซเคิลที่ใช้ไม่ได้ นำมาล้างแล้วส่งไป บริษัท N15 Technology เป็นเชื้อเพลิง แก้วเครื่องดื่ม take away ถ้วยน้ำพลาสติก ช้อนพลาสติก หลอดน้ำ จานชามพลาสติก กระดาษ ซองขนม ตะเกียบ พลาสติกรีไซเคิล ส่งมอบให้โครงการมือวิเศษ โครงการ “วน” ผ่านเขตฯ ถุงพลาสติกกำพร้าที่มาพร้อมกับของใส่บาตร แยกส่งมอบให้โครงการ YOLO ผ่านเขตฯ ตะกร้าถวายสังฆทาน โบว์ผูกประดับ (เดิมส่ง N15 หลังจากเขตฯ เข้ามาร่วม ส่วนหนึ่งให้เขตฯ นำไปเป็นกระบะปลูกต้นไม้และนำกลับไปใช้ใหม่) กล่องนม (เดิมส่ง N15 ปัจจุบันมีบริษัทมารับซื้อ) 3.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ที่เก็บขยะ รอรถขยะเขตฯ มาจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ใส่ถังขยะพิษสีแดง ส่งเขตฯ นำไปกำจัด เนื่องจากทางวัดทอง ยังไม่ได้มีการเก็บรวบรวมสถิติ จึงไม่สามารถบอกปริมาณขยะที่ดำเนินการได้ชัดเจน แต่ประมาณการได้ ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5 ถัง (ถังขนาด 240 ลิตร) /วัน/กิจกรรม หลังคัดแยก 1 ถัง/2 วัน/กิจกรรม ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 1 ถัง (ถังขนาด 80 ลิตร) /จัดเก็บ 1 ครั้ง ส่วนขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ยังไม่มีการเก็บสถิติ
สำรวจสวน 15 นาที สวนหย่อมวัดบวรมงคล ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 เขตฯ มีสวนสาธารณะเดิมที่ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น จำนวน 1 แห่ง คือ สวนหย่อมเอกชนต่างระดับสายใต้ (ข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก) พื้นที่ 1,240 ตารางเมตร โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพิ่มเติม ทาสี ปรับปรุงทางเดินเท้า จัดทำจุดเช็คอิน ติดป้ายชื่อสวน ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว ส่วนสวนสาธารณะที่ได้ดำเนินการก่อสร้างใหม่ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมบ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร-ถนนบรมราชชนนี) พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร โดยปรับปรุงภูมิทัศน์ นำประติมากรรมปลาคราฟ 9 ตัว ในรูปแบบปูนปั้นกลางบ่อ ปลูกบัวหลวง และต้นไม้ริมบ่อ ทำทางเดินเท้า และสะพานไม้ ติดตั้งป้ายสวน 15 นาที ปัจจุบันดำเนินการเสร็จแล้ว 2.ที่ว่างริมถนนสิรินธร หน้าแขวงการทาง อยู่ระหว่างรออนุญาตจากแขวงการทางธนบุรี 3.ที่ว่างริมถนนบรมราชชนนี หน้าร้านสยามชัย ปากซอยร่วมประชา ออกแบบรูปแบบสวนโดยเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อการพัฒนาสวน 15 นาที ผ่านการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม กลุ่มเขตกรุงธนเหนือร่วมกับ กลุ่ม We! Park อยู่ระหว่างจัดทำรูปรายการ เพื่อขอจัดสรรงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีสวนสาธารณะที่จะจัดทำเพิ่มเติม จำนวน 1 แห่ง คือ สวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดบวรมงคล ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (สวนหย่อมวัดบวรมงคล) พื้นที่ 3 ไร่ โดยพระราชวราจารย์ เจ้าอาวาสวัดบวรมงคล ได้มีหนังสือมอบพื้นที่ให้กับเขตฯ ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสวนดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรม อีกทั้งมีการลักลอบทิ้งขยะ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศิลปากร การไฟฟ้า วัดบวรมงคล เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงสวน รวมถึงออกแบบสวนให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางสาวอารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)