นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับและพิธีเปิดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 (The 16th World Chinese Entrepreneurs Convention: WCEC) เมื่อวันที่ 24-25 มิถุนายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 4,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ในโอกาสเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร
โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวชื่นชมความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของนักธุรกิจและผู้คนเชื้อสายจีนจากทั่วโลก ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของทั้งประเทศจีนและประเทศที่ชาวจีนโพ้นทะเลพำนักอยู่ ซึ่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานครเองก็เป็นที่ที่มีพี่น้องชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประวัติศาสตร์และความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เจริญรุ่งเรืองเป็นเมืองมหานครสำคัญในภูมิภาคดังเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น การมาเยือนของนักธุรกิจชาวจีนในครั้งนี้ นับเป็นความอบอุ่นและเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับสายสัมพันธ์ มิตรภาพและความสามัคคีเพื่อร่วมกันฟันฝ่าความท้าทายที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันและนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความผาสุกอย่างยั่งยืน
“พวกเราชาวกรุงเทพมหานครพร้อมยินดีต้อนรับแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน และจะให้การสนับสนุนการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นความภูมิใจร่วมกันและเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ จีน–ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
สำหรับการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2566 เป็นเวทีการรวมตัวของนักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก ซึ่งกําหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยมีหอการค้าสิงคโปร์-จีน หอการค้าฮ่องกง-จีน และหอการค้าไทย-จีน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและร่วมผลักดันการจัดการประชุม ปัจจุบันการประชุมจัดมาแล้ว 15 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งได้จัดการประชุมขึ้นในประเทศและเขตเศรษฐกิจต่างๆ หมุนเวียนกันไป การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 นี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดีต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการลงทุนอุตสาหกรรม เป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย ที่จะเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีน ที่เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นใหม่
–