(19 มิ.ย.66) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทวีวัฒนา ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที ทวีวัฒนา ริมถนนอุทยาน พื้นที่ 8,798 ตารางเมตร ซึ่งเขตฯ ได้รับมอบพื้นที่จากสำนักสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 จากนั้นเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ประสานสำนักการโยธาขุดบ่อแหล่งน้ำภายในสวน พร้อมทั้งปรับระดับพื้นดินให้มีความเหมาะสม สร้างศาลาที่พักภายในสวนแล้วเสร็จ 1 หลัง กำลังดำเนินการสร้างศาลาที่พักอีก 2 หลัง รวมถึงรับการสนับสนุนต้นไม้จากภาคเอกชนและประชาชน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับสภาพพื้นที่ จัดวางขอบคันหินกับทางเดินเท้าภายในสวน และปูสนามหญ้า คาดว่าพื้นที่ด้านบ่อน้ำ 2,400 ตารางเมตร จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566 ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตทวีวัฒนา ร่วมกันปลูกต้นจำปี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความร่มรื่นภายในสวน ทั้งนี้ สวน 15 นาที ทวีวัฒนา มีพื้นที่เชื่อมต่อกับศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์โคกหนองนา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบผสมผสาน มีบ่อเลี้ยงปลา มีคลองไส้ไก่เพื่อนำน้ำในบ่อไปหล่อเลี้ยงแปลงนา มีแปลงข้าวโพด แปลงผักอินทรีย์ชนิดต่างๆ โรงเรือนเพาะเลี้ยงไก่ไข่ และเป็ดไข่ โรงเรือนเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดต่างๆ บ่อซีเมนต์สาธิตการเลี้ยงหอยขม กุ้งฝอย และปูนา พื้นที่ปลูกไม้เบญจพรรณชนิดต่างๆ เช่น ยางนา ประดู่ พะยูง พะยอม มะฮอกกานี แคนา นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชในท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์พรรณพืช คือ ต้นจันอิน ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณหายากที่ปัจจุบันใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นไม้ผลที่มีลักษณะเฉพาะ โดยต้นเดียวกันสามารถออกผลได้ 2 แบบ ผลลูกกลมป้อมขนาดใหญ่เรียกว่าลูกอิน ผลลูกแบนและแป้นขนาดเล็กเรียกว่าลูกจัน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ร้านอาหารบ้านน้ำเคียงดิน ถนนอุทยาน พื้นที่ 24 ไร่ พนักงานและลูกค้า 850 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2550 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารโดยนำไปผลิตพลังงาน (ก๊าซมีเทน) เพื่อใช้ประกอบอาหารในครัว ทำน้ำหมักชีวภาพ และเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ จะนำขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ วัชพืช ไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งภาชนะคัดแยกขยะ พลาสติก แก้ว กระดาษ โลหะ รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะ (ห้องเก็บขยะแยกประเภท) โดยมีร้านค้ามารับซื้อ 3.ขยะทั่วไป รวบรวมใส่ภาชนะ เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะอันตราย สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 520 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลรายการภาษี การค้นหาและแก้ไขข้อมูลผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 59,124 แปลง สำรวจแล้ว 58,755 แปลง คงเหลือ 369 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 34,287 แห่ง สำรวจแล้ว 33,875 แห่ง คงเหลือ 412 แห่ง ห้องชุด 320 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 93,731 รายการ สำรวจแล้ว 92,950 คงเหลือ 781 รายการ พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมการให้บริการประชาชนของฝ่ายทะเบียน ภายในศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตทวีวัฒนา โดยได้สอบถามถึงระยะเวลาในการให้บริการงานทะเบียนบัตรประจำตัวประชาชน ตั้งแต่รับบัตรคิวจนเสร็จสิ้นกระบวนการ ปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้งานบริการเกิดความล่าช้า พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความรวดเร็วแก่ประชาชนที่มาติดต่อราชการ
ตรวจเยี่ยมต้นแบบการคัดแยกขยะ เขตทวีวัฒนา มีข้าราชการและบุคลากร 742 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล ตั้งจุดรับขยะพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว จุดรับขวดพลาสติกตามโครงการมือวิเศษ เพื่อพี่ไม้กวาด จุดรับถุงพลาสติกยืด (สะอาด) ตามโครงการ “วน” และจุดรับขยะกำพร้า 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งภาชนะรองรับมูลฝอยอินทรีย์ตามโครงการไม่เทรวม เก็บรวบรวมนำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ และรวบรวมส่งไปเลี้ยงสัตว์ 3.ขยะอันตราย ตั้งภาชนะรองรับขยะอันตราย และจุดรวบรวมขยะอันตราย เพื่อรวบรวมนำส่งสำนักสิ่งแวดล้อม ตั้งภาชนะรองรับหน้ากากอนามัยใช้แล้ว 4.ขยะทั่วไป ตั้งภาชนะรองรับมูลฝอยทั่วไปภายในอาคาร จำนวน 7 จุด และภายนอกอาคาร จำนวน 4 จุด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 168 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 134 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน
สำรวจพื้นที่ปลูกต้นไม้ล้านต้น บริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ถนนทวีวัฒนา ซึ่งภายในมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ยืนต้น จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณข้างสนามมวย พื้นที่ 3 ไร่ 2.พื้นที่รวบรวมขยะ พื้นที่ 3 งาน 3.บริเวณตึกรับรองผู้ป่วยโควิด พื้นที่ 2 งาน และ 4.บริเวณแนวขอบรั้ว พื้นที่ 3 ไร่ โดยเขตฯ จะดำเนินการปลูกต้นไม้ ตามโครงการต้นไม้ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง บริเวณข้างสนามมวย ซึ่งสามารถปลูกต้นไม้ได้ 2,352 ต้น โดยจะปลูกต้นไม้ยืนต้น จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ 1.ไทรใบสัก 2.ยางอินเดีย 3.ยางนา 4.พยอม 5.พยุง 6.มะฮอกกานี 7.มะค่าแท้ 8.มะค่าโมง และ 9.ตะเคียนทอง โดยได้รับสนับสนุนพันธุ์ไม้จากกรมป่าไม้ และบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)
ในการลงพื้นที่วันนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา สำนักสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)