(7 มิ.ย.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตทุ่งครุ มีข้าราชการและบุคลากร 595 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล จัดวางถังขยะรีไซเคิลภายในอาคาร ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะรีไซเคิล 2.ขยะอินทรีย์ จัดวางถังขยะอินทรีย์ภายในอาคาร อบรมให้ความรู้แก่ข้าราชการ บุคลากร และพนักงานสถานที่ให้ทราบวิธีการคัดแยกขยะ จัดเก็บเวลา 14.00 น. ของทุกวัน โดยนำขยะอินทรีย์ที่จัดเก็บได้ต่อยอดกระบวนการทำปุ๋ยบริเวณพื้นที่หลังอาคาร 3.ขยะอันตราย จัดวางถังจุดคัดแยกขยะอันตรายภายในอาคาร จัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน รวบรวมนำส่งโรงงานกำจัดขยะอันตราย 4.ขยะทั่วไป จัดวางถังขยะทั่วไปภายในอาคาร จัดเก็บทุกวันโดยรวบรวมไปทิ้งบริเวณที่รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 44 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 34 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) เขตฯ มีที่ดิน 53,610 แปลง สำรวจแล้ว 52,875 แปลง คงเหลือ 735 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 54,518 แห่ง สำรวจแล้ว 53,078 แห่ง คงเหลือ 1,440 แห่ง ห้องชุด 6,341 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 114,469 รายการ สำรวจแล้ว 112,294 รายการ คงเหลือ 2,175 รายการ พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการ ฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตทุ่งครุ โดยได้สอบถามถึงประสิทธิภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ปฏิบัติงาน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องผลิตบัตรประจำตัวประชาชน หากชำรุดเสียหายให้จัดหามาทดแทน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนที่มาติดต่อราชการ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพิศาล ถนนเลียบทางด่วนกาญจนาภิเษก ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 16 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 12 แห่ง ประเภทควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง ประเภทจุดถมดิน-ท่าทราย 7 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณทางเข้าออกโครงการ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณปากซอยพุทธบูชา 46 ถนนพุทธบูชา เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 185 ราย ดังนี้ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 147 ราย 2.บริเวณสวนหย่อมโครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 13 ราย 3.หน้าแฟลต กทม. ประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 13 ราย 4.ปากซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย และ 5.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 5 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม อาจเป็นพื้นที่ว่างหรือตลาดนัดของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ซึ่ง Hawker Center บริเวณดังกล่าว สามารถรองรับผู้ค้าได้ 24 ราย เวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. จำนวน 11 ราย เวลาทำการค้า 14.00-21.00 น. จำนวน 13 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้ทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน นอกจากนี้ให้หาแนวทางพิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนหลังวัดกลางนา ซอยประชาอุทิศ 27 พื้นที่ 18 ไร่ ประชากร 654 คน บ้านเรือน 140 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2557 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ก่อนทิ้ง โดยนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง แยกเศษอาหารส่งเกษตรกรเพื่อเลี้ยงสัตว์ (โครงการไม่เทรวม) 2.ขยะรีไซเคิล ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้การคัดแยกขยะประเภทต่างๆ ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลที่ขายได้ โดยเก็บรวบรวมนำมาขายในร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปทิ้งตามวันเวลาที่รถเก็บขนมูลฝอยเข้าดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย จัดจุดพักคัดแยกขยะอันตราย เพื่อรอเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เข้าดำเนินการจัดเก็บทุกวันที่ 15 ของเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 230 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 95 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 75 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)