กทม.เตรียมพร้อมขยายจำนวนเตียง รพ.ในสังกัดรองรับผู้ป่วยโควิด 19
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อาจเพิ่มขึ้นว่า สนพ.ได้วางมาตรการเชิงรุกเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสังกัด กทม.โดยสำรองเตียงโรงพยาบาลในสังกัด กทม.และวชิรพยาบาล 224 เตียง ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รับไว้รักษา 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 58.04 (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ค.66) กรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้น จนมีอัตราการครองเตียงถึงร้อยละ 80 จะขยายจำนวนเตียง เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันได้สำรองยา Favipiravir Molnupiravir Paxlovid และ Remdesivir สำรองชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 (Antigen Test Kit : ATK) เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มศักยภาพการตรวจด้วยวิธี RT-PCR สามารถตรวจได้ประมาณ 2,200 ราย/วัน นอกจากนั้น ยังได้สำรองวัคซีนโควิด 19 โดยเฉพาะชนิด Bivalent เตรียมให้บริการประชาชนในสถานพยาบาลของ กทม. ตลอดจนเตรียมแผนการรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล โดยร่วมกับหน่วยงานสังกัด กทม.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อดำเนินการดังกล่าวและระบบบริหารจัดการเตียงแบบศูนย์รวม
ทั้งนี้ กทม.ได้ส่งเสริมความรู้ สร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด 19 หรือได้รับวัคซีนไม่ครบโดส ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี (Annual Vaccination) จะเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด 19 ประชาชนกลุ่ม 608 กลุ่มคนที่ทำงานกับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง และเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้น ระยะห่างจากเข็มสุดท้าย หรือประวัติการติดเชื้อครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 3 เดือน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 เบิกจ่ายตามสิทธิการรักษา ณ สถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำหนด โดยจองผ่านแอปพลิเคชัน QueQ ทั้ง 12 โรงพยาบาลสังกัด กทม.และนอกสถานที่ ได้แก่ ศูนย์การค้า MBK Center ชั้น 6 โดยโรงพยาบาลกลาง ICS (ตรงข้ามไอคอนสยาม) ชั้น 3 โดยโรงพยาบาลตากสิน Terminal 21 พระราม 3 ชั้น 4 โดยโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ วิคตอเรีย การ์เด้น บางแค ชั้น 1 โดยโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรบินสันไลฟ์สไตล์ ลาดกระบัง ชั้น 2 โดยโรงพยาบาลสิรินธร
ส่วนสถานพยาบาล กทม.ยังคงเน้นย้ำมาตรการ DMH เพื่อป้องกันการติดเชื้อของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลที่อาจมีความเสี่ยงรับเชื้อจากโรงพยาบาลไปยังบุคคลในครอบครัว โดยผู้ที่มารับบริการทุกรายต้องสวมหน้ากากอนามัย จัดจุดบริการเจลล้างมือ ทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางภายในโรงพยาบาลสม่ำเสมอ เพื่อป้องการติดเชื้อและสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี
กทม.จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวก ช่วยเหลือประชาชนช่วงฝนตก
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวถึงการเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่มีฝนตกว่า สนท.ได้เตรียมความพร้อมปฏิบัติเมื่อมีสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกฟ้าคะนองและมีพายุทั้งก่อนฝนตก ขณะฝนตก และหลังฝนตก โดยก่อนฝนตกได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมยานพาหนะออกตรวจสอบบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมขัง พื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า – สาธารณูปโภคฯ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณา และต้นไม้ใหญ่ หากพบความไม่มั่นคงแข็งแรงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขทันที นอกจากนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดยานพาหนะออกปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกด้านการจราจรและเข้าช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความสะดวกปลอดภัยทันที
คชก.กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกรณีเห็นชอบรายงาน EIA โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนกรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ที่ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด หรือศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นว่า คชก.กทม.ได้พิจารณาตามหลักวิชาการและข้อกฎหมาย รวมถึงประเด็นข้อร้องเรียน โดยเห็นว่า รายงานดังกล่าวได้จัดทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดตามประเด็นที่ คชก.กทม.กำหนด ประกอบกับได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาได้อย่างครบถ้วนแล้ว จึงได้ให้ความเห็นชอบรายงานโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 ส่วนกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนมติดังกล่าวนั้น เป็นประเด็นเรื่องการบดบังทิศทางสายลมและแสงแดด ที่ศาลเห็นว่า มีการสำรวจและศึกษาไม่ครอบคลุม โดย คชก.กทม.จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ศาลเห็นว่า รายงานดังกล่าวไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม.กล่าวว่า ขณะนี้ คชก.กทม.อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางภายใน 30 วัน และจากการตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ได้หยุดการก่อสร้างตามคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติพิพาทแล้ว สำหรับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 จึงจะสามารถก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ กรณีบดบังแดด-บังลมของโครงการฯ กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตตามปกติของชาวบ้าน เป็นไปตามข้อพิจารณาและหลักเกณฑ์ของ คชก.กทม.ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA ส่วนการติดตามการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบและกำชับทุกโครงการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแก่บริเวณข้างเคียงอย่างเคร่งครัด ได้แก่ รั้วทึบสูง 6 เมตร พร้อมติดตั้งแผ่นกันเสียง Blox teg พ่นสเปรย์น้ำโดยรอบโครงการตามที่ EIA กำหนด เป็นต้น
นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กทม.กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยนายตรวจอาคาร ได้ตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างโครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง ซึ่งได้หยุดปฏิบัติงานตั้งแต่ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอน EIA จนถึงปัจจุบันไม่พบมีการฝ่าฝืนการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นแต่ประการใด
กทม.เร่งแก้ปัญหาพยาบาลตึงตัว พัฒนาระบบเตือนทำงานเกินเวลา-จัดพยาบาลช่วยปฏิบัติงานระหว่าง รพ.
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม.กล่าวกรณีสื่อออนไลน์เสนอข่าวหลายโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทำให้พยาบาลต้องอยู่เวรติดต่อกัน 24 ชั่วโมงว่า สนพ.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีการให้พยาบาลทำงานเกินเวลาจริง โดยคาดว่าเหตุเกิดขึ้นในโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก เพราะมีจำนวนประชากรเข้ารับบริการจำนวนมาก เบื้องต้นเกิดจากบุคลากรพยาบาลมีอัตราตึงตัว อย่างไรก็ตาม สนพ.ได้ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการดูแลประชาชน โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานของสภาการพยาบาล ทุกโรงพยาบาลมีนโยบายการจัดเจ้าหน้าที่ขึ้นปฏิบัติงานชัดเจนแบบเวรผลัด ไม่ให้มีการขึ้นปฏิบัติงานติดต่อกัน 24 ชั่วโมง โดยจะปฏิบัติงานได้ 16 ชั่วโมง เว้น 8 ชั่วโมง ยกเว้นกรณีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งขาดอัตรากำลัง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด 19 จำเป็นต้องมอบหมายบุคลากรที่มีอยู่ปฏิบัติงานต่อเนื่อง เพื่อดูแลผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบแจ้งเตือนเวลาการทำงานที่ยังไม่สามารถใช้ได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องเร่งแก้ไขและพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแจ้งเตือนการทำงานเกินเวลา รวมถึงให้ผู้บริหารตรวจสอบติดตามอย่างเข้มงวด
ทั้งนี้ สนพ.ได้กำชับผู้อำนวยการโรงพยาบาลและหัวหน้าพยาบาลดูแลความเป็นอยู่ของบุคลากรทุกระดับให้อยู่ดีมีสุข โดยให้หัวหน้าพยาบาลช่วยสื่อสาร รับฟังปัญหา และให้กำลังใจ ส่วนกรณีปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โรงพยาบาลในสังกัด กทม.ได้จ้างพยาบาลห้วงเวลาเพิ่มเติม พยาบาลประกันสังคม บุคลากรช่วยปฏิบัติราชการด้านสาธารณสุข และบุคคลภายนอก รวมทั้งจัดส่งพยาบาลไปช่วยปฏิบัติงานระหว่างโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ได้แก่ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลคลองสามวา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้วิเคราะห์อัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในโรงพยาบาลสังกัด กทม.ทุกระดับ โดยจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่องอัตรากำลังพยาบาลอย่างเร่งด่วนต่อไป
เขตปทุมวันตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีย้ายหัวหน้าศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินีไม่เป็นธรรม
นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม.กล่าวถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีประชาชนร้องเรียนศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินี เขตปทุมวัน มีการย้ายหัวหน้าศูนย์ฯ อย่างไม่มีเหตุผลว่า กรณีร้องเรียนการดำเนินงานศูนย์ฝึกอาชีพสวนลุมพินี ผู้ร้องเรียนไม่แจ้งชื่อสกุล โดยร้องเรียนหัวหน้าศูนย์ฝึกอาชีพฯ บริหารงานไม่โปร่งใส ควบคุมวิทยากรหาผลประโยชน์ไม่ได้ และอาจมีการทุจริต ซึ่งการร้องเรียนในลักษณะนี้เคยมีมาก่อนแล้ว ดังนั้น เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในศูนย์ฝึกอาชีพฯ สำนักงานเขตปทุมวัน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หาข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและให้การปฏิบัติหน้าที่จัดการฝึกอบรมอาชีพให้แก่ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และเป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ จึงมีคำสั่งให้ข้าราชการฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ สำนักงานเขตปทุมวัน จำนวน 10 ราย สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปกำกับดูแลการปฏิบัติงานของศูนย์ฝึกอาชีพฯ สวนลุมพินี ด้านการสอนของวิทยากรและดูแลนักเรียน จนกว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงจะแล้วเสร็จ
เขตบางคอแหลมแจงศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาสเปิดสอนตามระเบียบ กทม.ย้ำไม่มีนโยบายห้ามเรียนซ้ำ
นางวาสนา บูรณกิตติโสภณ ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม กทม.กล่าวกรณีมีข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของข้อกำหนดการเปิดเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาสว่า สำนักงานเขตบางคอแหลม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ระบุหากวิชาใดมีผู้สมัครเรียนไม่ถึง 15 คน จะเปิดสอนไม่ได้ นั้น ตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการดำเนินงานสถานศึกษาฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2542 หมวด 1 การดำเนินงานสถานศึกษา ข้อ 8 (2) ประเภทวิชาคหกรรมและศิลปกรรม จำนวนนักเรียนไม่ต่ำกว่า 20 คน/ห้องเรียน หากเปิดสอนมากกว่า 1 ห้อง และห้องสุดท้ายมีไม่ถึง 20 คน ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าสถานศึกษา แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 10 คน ซึ่งศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาสได้ปฏิบัติตามระเบียบกรุงเทพมหานครโดยเคร่งครัดและคำนึงถึงประโยชน์และการให้บริการประชาชนเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาส ไม่มีนโยบายห้ามผู้เข้ารับการฝึกอบรมอาชีพมาเรียนซ้ำและไม่ได้มีระเบียบบังคับกำหนดไว้ในบางวิชาชีพ จึงมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้าเรียนซ้ำหลักสูตรได้ นอกจากนั้น ประชาชนที่เข้ามารับการฝึกอบรมวิชาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพวัดวรจรรยาวาส จะมาจากการประชาสัมพันธ์ของศูนย์ฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีหลายช่องทาง เช่น เพจเฟซบุ๊ก แอปพลิเคชันไลน์ รวมถึงจากผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพมาเรียนแล้วประกอบอาชีพได้จริง จึงบอกต่อให้เพื่อน ญาติ คนรู้จัก มาเรียนวิชาชีพที่ศูนย์ฯ ซึ่งไม่ได้มาจากวิทยากรไปหาผู้เรียนเองแต่อย่างใด