(14 พ.ย. 65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ธีม “กทม. เมืองสุขภาพดี ยกระดับดูแลเด็ก กทม. บริการฉีดวัคซีน PCV ครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มแล้ววันนี้…” เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรค ลดปัญหาเชื้อดื้อยา ลดภาระรักษาพยาบาล ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจริง ๆ แล้ว คือประชาชนทุกคนนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนกลุ่มไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสุขภาพ 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าเรามีช่องว่างและความอ่อนแอสูงมากในการดูแลเวลามีโรคติดต่อเกิดขึ้น หรือแต่มีสิ่งที่รบกวนความมั่นคงทางสุขภาพซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ แม้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา เราจะมีความแข็งแรงในการเผชิญหลาย ๆ เรื่อง และก็มีข้อบกพร่องหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมีมาตรการใดก็ตามที่ทำให้กรุงเทพมหานครสามารถดูแลประชาชนได้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะเวลาเกิดโรคภัยหรือแม้แต่เกิดอันตรายใด ๆ ที่เราต้องตอบสนองและดูแลประชาชนเท่านั้น กรุงเทพมหานครยังต้องให้ความสำคัญมากต่อการส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะในสังคมเมืองที่มีทั้งความหนาแน่น ทั้งการเดินทางเข้าออกของนักท่องเที่ยวและผู้คนอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการอยู่รวมกันอย่างแออัดและมีกิจกรรมที่แน่นแฟ้นมาก ดังนั้น ความยากของการเกิดเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่าหากมีมาตรการใดก็ตาม หรือมีการเตรียมการ การวางแผนงาน ฯลฯ ที่ทำแล้ว ทำให้การปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบาง อะไรก็ตามที่ทำให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นและเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมของสุขภาพเหล่านั้นดีขึ้นได้ กรุงเทพมหานครจะทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครคงไม่สามารถทำแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ซึ่งอาจจะให้การสนับสนุนหรือเป็นเจ้าภาพหลักในการประสานขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในการที่จะส่งต่อบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเหล่านั้นให้กับสังคม ซึ่งเรามีโอกาสเต็มที่ในการจัดสรรทรัพยากรส่วนหนึ่งเพื่อช่วยดูแลเด็ก ๆ ลูก ๆ ของเราเอง ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่ามากในอนาคต เพราะฉะนั้นการที่เขาจะมีสุขภาพดี การที่เขาไม่ต้องผ่านการเจ็บปวดที่เกี่ยวกับโรคภัยใด ๆ ก็ตาม เราไม่อยากให้เด็ก ๆ ของเราต้องผ่านวันเวลาเหล่านั้น ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลเด็ก ๆ น้อง ๆ เหล่านี้ จะต้องใช้เวลาและความพยายามสูงมาก ซึ่งอาจจะทำให้มีความเครียดในเวลาทำงานได้ ฉะนั้น การดูแลเด็ก ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าให้เติบโตไปอย่างดีจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
“วันนี้เป็นความพยายามของกรุงเทพมหานครอีกเรื่องหนึ่งที่จะดูแลสุขภาพประชาชน โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มของเด็กเล็ก อายุ 2 – 4 เดือน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนำน้อง ๆ มารับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้นได้ ขณะนี้เราเปิดให้เด็ก อายุ 2 – 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุแรกที่จะได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง โดยเริ่มในวันพรุ่งนี้เป็นวันแรก ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและช่วยดูแลพี่น้องประชาชนของกรุงเทพมหานคร” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี หากมีการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส Streptococcus pneumoniae ที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ สำหรับอาการสำคัญและความรุนแรงของโรค จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หรือหากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก และอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว หรือหากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย ตระหนักและเห็นความสำคัญในการส่งเสริมป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสและเพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จึงได้จัดทำโครงการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะให้บริการฉีดวัคซีนดังกล่าวครั้งแรกในวันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ให้แก่เด็กที่มีอายุ 2 – 4 เดือน ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ทั้ง 69 แห่ง และจะให้บริการต่อเนื่องในคลินิกสุขภาพเด็กดี (Well baby) ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 13.00 – 15.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย โทร 0 2203 2887-9 ในวันและเวลาราชการ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
ในส่วนของสถานการณ์โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ จำนวน 5,870 คน คิดเป็นอัตราป่วย 106.19 ราย ต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยอายุระหว่างแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 973 คน คิดเป็นอัตราป่วย 17.69 ราย ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้หลายประเทศในยุโรป และสหรัฐ แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งปัจจุบันนั้นมีวัคซีนที่สามารถป้องกันอันตรายจากเชื้อนิวโมคอคคัสในเด็กที่ได้บรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศบังกลาเทศ เมียนมา เนปาล และภูฏานเรียบร้อยแล้ว สำหรับประเทศไทย ยังไม่ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพื้นฐาน (EPI Program) ของประเทศ จึงยังไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ มีเพียงวัคซีนทางเลือกที่เสียค่าใช้จ่ายในการฉีดสูง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาเข้าในแผนฯ ซึ่งกรุงเทพมหานครเห็นว่าสามารถดูแลในกลุ่มเด็กเล็กก่อนได้ จึงได้เริ่มโครงการนี้ขึ้น
สำหรับวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ มีได้หลากหลายวิธี ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในบริเวณสถานที่ที่คนแออัด 2. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดอยู่เสมอ 3. หลีกเลี่ยงฝุ่นและควัน เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถ 4. ควรหลีกเลี่ยงให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงอยู่ใกล้ชิดกับผู้กำลังมีอาการหวัด หรือไอ 5. ให้โภชนาการที่เพียงพอแก่เด็ก โดยเริ่มจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือน แรกของชีวิต และ 6. การฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าเป็นการป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่ดีที่สุด
โดยผู้ร่วมงานแถลงข่าววันนี้มี นายมาร์ก กุดดิง เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายวิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร นางสุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด คุณเจนสุดา ปานโต ดารานักแสดง ผู้บริหารสำนักอนามัย ผู้บริหารสำนักการแพทย์ บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน
——————