ชมคัดแยกขยะโรงเรียนวัดเจ้าอาม ตรวจแยกขยะเขตบางกอกน้อย เตรียมพร้อมระบบ BMA-TAX จัดระเบียบผู้ค้าถนนบางขุนนนท์ ตรวจวัดค่าฝุ่นและควันดำโครงการนิวโนเบิล ส่องสวนอัศวินถนนบรมราชชนนี
(30 พ.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดเจ้าอาม ถนนบางขุนนนท์ มีข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน 120 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เป็นขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษผักเศษผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้แห้ง ส่วนใหญ่มาจากโรงอาหารที่แม่ครัวประกอบอาหาร โรงเรียนจัดการขยะอินทรีย์โดยผ่านกระบวนการลดปริมาณขยะ ด้วยการรับประทานอาหารให้หมดจาน และเศษเหลือจากการประกอบอาหารให้เขตฯ มารับไปกำจัด 2.ขยะรีไซเคิล เป็นวัสดุเหลือใช้ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เช่น ขวดแก้ว กระดาษ ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องนม ส่วนใหญ่มาจากร้านค้าสหกรณ์ และสำนักงาน โรงเรียนจัดการขยะรีไซเคิลด้วยการนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์และนำไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายยาก และไม่คุ้มค่าสำหรับการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกใส่ขนม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติก กล่องโฟม ส่วนใหญ่มาจากร้านค้าภายนอก โรงเรียนจัดการขยะทั่วไปด้วยการรณรงค์ให้เด็กใช้ถุงผ้า แก้วน้ำ ตะกร้าใส่อุปกรณ์ ทำให้ปริมาณขยะทั่วไปลดลง 4.ขยะอันตราย เป็นขยะที่ปนเปื้อนหรือมีองค์ประกอบของวัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ หน้ากากอนามัยที่ใช้งานแล้ว ส่วนใหญ่มาจากอาคารเรียน โรงเรียนจัดการขยะอันตรายโดยผ่านกระบวนการจัดเก็บที่ปลอดภัยใส่ถุงมิดชิด รอรถเก็บขยะจากเขตฯ มารับไปจัดการ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 12 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 35 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 53 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.2 กิโลกรัม/เดือน
ตรวจเยี่ยมอาคารต้นแบบการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตบางกอกน้อย มีข้าราชการและบุคลากร 250 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล มีถังขยะแยกประเภท แม่บ้านรวบรวมมาให้ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปใช้ประโยชน์โดยส่งมอบให้โครงการมือวิเศษกรุงเทพฯ 2.ขยะอินทรีย์ มีถังขยะแยกประเภท แม่บ้านรวบรวมมายังจุดทิ้งหลังอาคาร B และฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ดำเนินการนำบางส่วนไปใส่บ่อปุ๋ยหมักอินทรีย์ 3.ขยะอันตราย แม่บ้านรวบรวมขยะอันตรายมายังจุดทิ้งขยะอันตราย และฝ่ายรักษาความสะอาดฯ นำไปกำจัดโดยส่งโรงกำจัดขยะหนองแขม 4.ขยะทั่วไป แม่บ้านรวบไปทิ้งที่จุดทิ้งขยะหลังอาคาร B ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 280 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 24 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 115 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อก่อนคัดแยก 0 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 0.3 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามการใช้งานระบบสารสนเทศภาษีท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (BMA-TAX) ในการจัดเก็บรายได้ เขตฯ มีที่ดิน 33,158 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 41,282 แห่ง ห้องชุด 10,661 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 85,101 รายการ สำรวจครบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการใช้งานระบบการชำระภาษี BMA-TAX การบันทึกข้อมูลและค้นหาข้อมูลรายชื่อผู้เสียภาษี ศักยภาพของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งาน ประสิทธิภาพระบบเครือข่ายแบบใช้สายสัญญาณ (LAN) และแบบไร้สายสัญญาณ (WIFI) โดยเน้นย้ำการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบโปร่งใส เพื่อให้การจัดเก็บภาษีรายได้เป็นไปอย่างถูกต้องตามเป้าหมายที่กำหนด
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนบางขุนนนท์ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 7 จุด ได้แก่ 1.บริเวณใต้สะพานอรุณอมรินทร์ (ข้ามคลองบางกอกน้อย) ผู้ค้า 2 ราย เวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 2.บริเวณถนนอิสรภาพ หน้าร้านสะดวกซื้อ 7-ELEVEN ผู้ค้า 4 ราย เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 3.บริเวณตรงข้ามกรมควบคุมความประพฤติ ปากซอยวังหลังซอย 4 ผู้ค้า 2 ราย เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 4.บริเวณหน้าวัดเจ้าอาม ถนนบางขุนนนท์ ผู้ค้า 2 ราย เวลาทำการค้า 17.00-20.00 น. 5.บริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ผู้ค้า 2 ราย เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น. 6.บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาสามแยกไฟฉาย ผู้ค้า 3 ราย เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น. และ 7.บริเวณปากซอยอรุณอมรินทร์ 20 ถนนอรุณอมรินทร์ ผู้ค้า 1 ราย เวลาทำการค้า 07.00-17.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหน้าตลาดบางขุนนนท์ ผู้ค้า 84 ราย เวลาทำการค้า 10.00-22.00 น. ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ค้าบริเวณตลาดบางขุนนนท์ เพื่อปรับปรุงยอดรวมผู้ค้าทั้งหมดให้เป็นยอดปัจจุบัน เนื่องจากผู้ค้าบางรายได้ย้ายไปทำการค้าที่จุดอื่น บางรายเลิกทำการค้าไปแล้ว ทำให้เกิดช่องว่างตรงจุดที่ผู้ค้าย้ายออกไป โดยเขตฯ จะจัดระเบียบผู้ค้าตรงจุดที่เว้นว่าง เลื่อนแผงค้าที่กระจัดกระจายให้มาอยู่ใกล้กัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า พิจารณาหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้ย้ายมาทำการค้าในจุดเดียวกัน ที่สำคัญผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการอาคารชุดนิวโนเบิล ไฟฉาย-วังหลัง ถนนพรานนก ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ความสูง 22 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทพ่นสีรถยนต์ 5 แห่ง ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 1 แห่ง ประเภทสะสมทราย 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการเปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำในช่วงการปฏิบัติงานตลอดเวลา ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
สำรวจสวน 15 นาที สวนอัศวิน ถนนบรมราชชนนี เขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 2 สวน ได้แก่ 1.สวนยูเทิร์นเพลินใจ ตั้งอยู่บริเวณทางกลับรถใต้สะพานข้างคลองบางขุนศรี ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 เป็นที่ดินเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 พื้นที่ 1 งาน โดยดำเนินการพัฒนาทำความสะอาด บำรุงรักษาและตัดแต่งต้นไม้ประดับ 2.สวนตรงข้ามศาลาต้นจันทน์ (ซอยอรุณอมรินทร์ 20) ถนนอรุณอมรินทร์ เป็นที่ดินเวนคืนเพื่อสร้างทางยกระดับข้ามแยกศิริราช ถึงจุดกลับรถใต้สะพานอรุณอมรินทร์ พื้นที่ 24 ตารางวา อยู่ระหว่างทาสีตามแบบ ติดอักษรสแตนเลสและติดไฟส่องสว่าง ปลูกต้นไม้ยืนต้นเพื่อให้ร่มเงา และวางเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้ง นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียว (สวนเดิม) จำนวน 4 สวน ได้แก่ 1.สวนหย่อมอัศวิน ตั้งอยู่บริเวณริมทางเท้าถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 119.7 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมจักรวาล ตั้งอยู่บริเวณริมทางเท้าถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 154.8 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมปากซอยรุ่งประชา ตั้งอยู่บริเวณปากซอยรุ่งประชา ถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 1 งาน 27 ตารางวา และ 4.สวนหย่อมสายใต้เก่า ถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 1 งาน 25 ตารางวา
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตบางกอกน้อย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางกอกน้อย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)