(12 พ.ย. 65) กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา จัดการฝึกอบรมครูตามแนวคิดครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ การจัดการเรียนรวม ตามนโยบายเรียนดีของกรุงเทพมหานคร ณ โรงเรียนวัดไผ่ตัน เขตพญาไท โดยมีนายภานุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการฝึกอบรม พร้อมทั้งมี นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม ผู้อำนวยการเขตพญาไท ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดไผ่ตัน วิทยากร และคณะครู ร่วมกิจกรรม
นายภานุมาศ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลเรื่องการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พบว่าโรงเรียนวัดไผ่ตันมีการจัดการศึกษาที่ใกล้เคียงกับการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ถ้ามีการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม น่าจะนำไปสู่การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่สมบูรณ์เป็นต้นแบบของโรงเรียนที่น่าอยู่ตามนโยบาย “เรียนดี” ของกรุงเทพมหานคร
โดยโรงเรียนวัดไผ่ตันมีข้าราชการครู จำนวน 34 คน มีครูการศึกษาพิเศษ 1 คน มีนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ 17 คน ในจำนวนนี้ มีบัตรประจำตัวคนพิการ 5 คน มีใบรับรองแพทย์ 12 คนเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว 1 คน พิการทางสติปัญญา 4 คน พิการทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ 9 คน พิการทางการเรียนรู้ 1 คน และอยู่ระหว่างคัดกรอง 2 คน โดยทางโรงเรียนมีการนำนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมารวมกันบางเวลาที่สอนเสริมวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทย ซึ่งจากที่ได้พูดคุยกับฝ่ายบริหารและครูแล้วมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการเรียนดี คือ เรียนรวม 100%
สำหรับการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการเรียนรวม (Inclusive Education) ตามนโยบายผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ เน้นให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษมีโอกาสได้เรียนในโรงเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนแต่ละบุคคลอย่างมีคุณภาพ เป็นโรงเรียนดีสำหรับทุกคน ซึ่งการจัดการศึกษาพิเศษได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตไปจนถึงการพัฒนาสู่การประกอบอาชีพในอนาคต รวมทั้งเด็กทั่วไปและเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือเด็กพิการได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม (Inclusive Society) โดยโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งหมด 437 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2564 มี 155 โรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนที่มีการความต้องการจำเป็นพิเศษเข้าเรียนในรูปแบบเรียนร่วมเต็มเวลาในชั้นเรียนพิเศษ (Mainstreaming) หรือ ชั้นเรียนพิเศษเรียนร่วมบางเวลา (Integration Education) โดยจัดให้มีครูการศึกษาพิเศษดูแล ซึ่งในการจัดการเรียนร่วมในรูปแบบดังกล่าวยังไม่ใช่เป็นการจัดการศึกษาเรียนรวม (Inclusive Education)
ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า กทม.คำนึงถึงการให้นักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษเรียนรวมกับนักเรียนในชั้นเรียนปกติในระบบการศึกษาทั่วไป ในบางครั้งนักเรียนที่ขาดความพร้อมอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากเด็กไม่ได้รับการดูแลอย่างตรงตามความต้องการจำเป็นที่เหมาะสม เช่น เรียนตามหลักสูตรพื้นฐานตามที่สถานศึกษาใช้ ซึ่งเกินระดับความสามารถของนักเรียนซึ่งมีศักยภาพไม่ถึง หรือไม่ได้รับการดูแลที่สอดคล้อง เหมาะสมกับประเภทความบกพร่องหรือระดับความสามารถ อาจทำให้พัฒนาการอาจแย่ลง มีปัญหาความบกพร่องมากขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น หรือเผชิญปัญหาต่างๆ จากสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น ครูไม่เข้าใจหลักการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ การประเมินผล หรือการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม หรือเพื่อนทั่วไปไม่เข้าใจลักษณะความบกพร่อง เพื่อนไม่ยอมรับ เพื่อนดูแลเพื่อนที่ผิดวิธี ดังนั้นกทม.จึงต้องพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็กนักเรียน โดยโครงการจะมีการคัดกรองและประเมินศักยภาพของเด็กผ่านแบบประเมินที่จัดทำโดยแพทย์และนักจิตวิทยา (จำแนกเป็นอย่างน้อย 7 ประเภทความพิการตามกระทรวง พม.) เพื่อพิจารณาความพร้อมตามลักษณะความรุนแรงของความบกพร่อง และจัดการเรียนรู้ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน (IEP – Individualized Education Program)
“ไม่เพียงแค่การพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน และการดูแลนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษเท่านั้น กทม.จะ เพิ่มทรัพยากร เพิ่มบุคลากรในโครงการจัดการศึกษาพิเศษ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูล่าม เป็นต้น เพิ่มองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการดูแลเด็กพิเศษให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ เป็นสังคมที่น่าอยู่ ไม่รู้สึกแปลกแยก (Inclusive Society) ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงการยอมรับความช่วยเหลือและการรักษาที่ถูกต้อง และสนับสนุนเครือข่ายของผู้ปกครองเด็กพิการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความช่วยเหลือ และประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตรด้วย” นายภานุมาศกล่าว
ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทบาทของการเรียนในโรงเรียนแล้ว กทม.จะนำร่องประสานกับโรงพยาบาล สังกัด กทม.ในแต่ละกลุ่มเขตเพื่อเชื่อมต่อการทำงานให้ครบวงจร โดยเมื่อเด็กเข้ารับการรักษา ในช่วงปฐมวัยก่อนเข้าโรงเรียนในโรงพยาบาลสังกัดกทม. ทางโรงพยาบาลจะประสานกับโรงเรียนของโครงการฯ เพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา และดำเนินการรักษาต่อเนื่องควบคู่กับการเรียนรู้ ให้เป็นความร่วมมือระหว่างบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล เพื่อให้เด็กทุกกลุ่มสามารถพึ่งพาตนเองและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างยั่งยืน