(24 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ในวันนี้มีการคุยเรื่องงบประมาณของปี 67 ซึ่งอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท โดยทำเป็นงบแบบสมดุล ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายจะเป็นโครงการหลากหลายด้านทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ ภายใต้นโยบาย Zero Based Budgeting หรืองบประมาณแบบฐานศูนย์ คือการปรับทุกอย่างให้เป็นศูนย์ก่อน โดยกรุงเทพมหานครได้นำโครงการเก่ามาดูและพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มหรือไม่จำเป็นก็จะไม่นำโครงการเดิมมาทำ หากจำเป็นจริง ๆ หรือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ก็ค่อยใส่เข้ามา ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่ทำให้เราใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะต้องนำเข้าสภากรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง
จากที่ได้ติดตามอ่าน MOU ซึ่งทางกลุ่มที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลวางแนวทางไว้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายใครจะเป็นรัฐบาล แต่เบื้องต้น นโยบายในหลาย ๆ ด้านของกรุงเทพมหานครและสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้นมีความสอดคล้องกับ MOU ดังกล่าว ทั้งในแง่ของความโปร่งใส ซึ่งเป็นหัวใจในการทำงาน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น การทำ Zero Based Budgeting เป็นต้น อย่างไรก็ดี เราสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ เพราะเราเป็นหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งต้องทำตามรัฐบาลกลางอยู่แล้ว
ขณะนี้ก็มีนโยบายหลายเรื่องที่เตรียมจะนำเรียนรัฐบาลใหม่ เช่น เรื่อง PM 2.5 ที่ต้องลงมืออย่างใกล้ชิด โดยนำแผนแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งต้องร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวคิดเรื่องท่าเรือคลองเตยในอนาคต หรือแม้กระทั่งการนำพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วน/ทางรถไฟ มาทำเป็นลานกีฬา สถานที่ปลูกต้นไม้ การนำพื้นที่ราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มาทำสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการขนส่งมวลชน ขนส่งสาธารณะในเมือง ตลอดจนเรื่องค่าครองชีพ หากรัฐบาลใหม่เห็นด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี และหากเราหาแนวทางร่วมกันได้ดี สุดท้ายก็จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้
● 1 ปี ของการทำงาน ยังคงเน้นเส้นเลือดฝอย หัวใจคือความโปร่งใส พร้อมเดินหน้าทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
สำหรับระยะเวลาการทำงานเกือบ 1 ปี นโยบายที่เราพูดถึงมาโดยตลอดคือเรื่องเส้นเลือดฝอย เพราะเชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะดีได้ต้องเริ่มที่เส้นเลือดฝอยซึ่งลงไปยังชุมชน ซึ่งต้องร่วมไปกับโครงการเส้นเลือดใหญ่ จึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยนโยบายเส้นเลือดฝอยที่เราทำและเห็นได้ชัดเจนคือ Traffy Fondue เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของราชการที่เมื่อก่อนราชการอาจจะไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของประชาชนมากนัก ทั้งที่ประชาชนคือผู้ที่รู้ปัญหาในพื้นที่ได้ดี เมื่อเรานำระบบ Traffy Fondue มาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ข้าราชการไม่ต้องมาสนใจผู้ว่าฯ แต่สนใจแค่การบริการประชาชน การเอาใจใส่ประชาชน เพราะผู้ว่าฯ เองก็ใส่ใจการให้บริการประชาชนมากกว่าเช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วงแรกไม่ได้คิดว่าจะสำเร็จขนาดนี้ ปัจจุบันมีเรื่องแจ้งมาทั้งหมด 285,771 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 206,844 เรื่อง เป็นของหน่วยงานอื่น 61,870 เรื่อง กำลังดำเนินการอยู่ 8,911 เรื่อง นับเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการประชาชน ทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างไร้รอยต่อ เป็นการทลายไซโล (Silo) ที่เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ สิ่งนี้เป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อนาคตเชื่อว่าจะมีการขยายผลใช้งานไปทั่วประเทศต่อไป ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็ได้ขยายผลแล้ว โดยใช้ Traffy Fondue เป็นช่องทางการรับแจ้งเบาะแสเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เพราะสิ่งที่เราเน้นมาตั้งแต่ต้นคือเรื่องของความโปร่งใสซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับเรา จึงได้เน้นย้ำว่าเราต้องเปิดเผยข้อมูล เอาจริงเอาจังกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็เริ่มเห็นผลแล้ว โดยได้มีคณะกรรมการ/คณะทำงานที่ลงไปดำเนินการอย่างเข้มข้น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าทำได้ดี
สำหรับนโยบายเส้นเลือดฝอย 216 นโยบาย เราเริ่มไปแล้วประมาณ 190 กว่าเรื่อง อีกประมาณ 20 เรื่อง กำลังทบทวนว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยหรือไม่ ยังจำเป็นหรือไม่ หลายโครงการที่เราได้ดำเนินการไปเป็นเรื่องที่อาจจะเห็นไม่ชัด แต่แฝงอยู่ในชีวิตของประชาชน เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ/คูคลอง การปรับระบบการศึกษา การเปลี่ยนหลอดไฟที่ดับ เปลี่ยนไฟเป็นหลอด LED เป็นต้น ซึ่งเราดำเนินการมาค่อนข้างเยอะ และยังคงเดินหน้าทำตามนโยบายที่ให้ไว้ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน หลาย ๆ โครงการเราได้งบประมาณมา ทั้งการปรับปรุงทางเท้า นำสายสื่อสารลงดิน ต่อไปก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในส่วนของความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขไฟฟ้าส่องสว่างดับและการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็น LED ซึ่งกรุงเทพมหานครมีไฟฟ้าที่รับผิดชอบอยู่ 1 แสนกว่าดวง เพื่อให้รับทราบข้อมูลที่แน่นอนและถูกต้อง จึงได้มีการประสานการไฟฟ้านครหลวงเพื่อให้ทราบว่าจริง ๆ แล้วมีไฟฟ้าส่องสว่างที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่กี่ดวง จะได้วางแผนดำเนินการได้แม่นยำชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันสำรวจไฟฟ้าส่องสว่างไปทั้งสิ้น 147,566 ดวง แก้ไขแล้ว 28,014 ดวง ยังดับ 165 ดวง
ผลการติดตั้ง LED IOT มีดังนี้ 120W จำนวน 4,419 ดวง แล้วเสร็จ 207 ดวง (ถนนพระรามที่ 4 ถนนอังรีดูนังต์ ซอยรางน้ำ ถนนเทิดราชัน) 150W จำนวน 746 ดวง แล้วเสร็จ 746 ดวง (ถนนพระรามที่ 4 ถนนราชวิถี ถนนราชปรารภ ถนนราชดำริ ถนนเพลินจิต ถนนนวมินทร์ ถนนบางขุนเทียนชายทะเล ถนนนิมิตใหม่ ถนนรัชดา) และ 50W จำนวน 20,000 ดวง แล้วเสร็จ 4,434 ดวง
ด้านการติดตั้งโคมไฟริมคลองแสนแสบ รวม 1,285 โคม อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,134 โคม แล้วเสร็จ 151 โคม ส่วนโคมไฟริมคลองบางลำพู รวม 208 โคม อยู่ระหว่างดำเนินการ 70 โคม แล้วเสร็จ 138 โคม
● ติดตามเหตุเพลิงไหม้ เตรียมพัฒนาถังแดงครอบคลุม เข้าถึงเหตุเร็ว แนะประชาชนเก็บกุญแจให้หยิบง่ายในที่มืด เตรียมไฟฉายสำรองไว้ยามเกิดเหตุ
สำหรับแนวทางป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากที่ได้ไปติดตามเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดที่วุฒากาศ 18 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นอาคารไม้ มีห้องเช่าที่ไฟไหม้ 31 ห้อง ซึ่งทีมดับเพลิงเข้าถึงพื้นที่ไม่ช้า ประมาณ 5 นาทีก็ถึง หัวแดงก็ทำงานได้ น้ำก็มี แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่อาคารไม้จึงทำให้เกิดการลามติดต่ออย่างรวดเร็ว บทเรียนจากเหตุครั้งนี้คงต้องพัฒนาเรื่องถังแดงและการเข้าเผชิญเหตุนาทีแรกให้เร็วขึ้นอีก อย่างไรก็ตามต้องดูหลังการพิสูจน์หลักฐานอีกครั้งหนึ่งว่าปัญหาเกิดจากอะไร
เมื่อเช้าได้เจอลุงท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าเกือบถูกไฟคลอกตาย เนื่องจากอยู่บนห้องคนเดียวแล้วล็อกประตูเหล็กไว้ ขณะเกิดเพลิงไหม้ไฟดับจึงมองไม่เห็น ทำกุญแจตก แต่ลุงท่านนั้นโชคดีที่สุดท้ายหยิบกุญแจขึ้นมาไขได้ทัน จึงขอฝากทุกคนด้วยว่าในกรณีฉุกเฉินต้องมีการติดไฟฉายไว้ในที่ที่หยิบได้สะดวก กุญแจที่ไขล็อกต้องอยู่ในที่ที่สามารถหยิบได้ง่ายแม้กระทั่งไฟดับ เพราะเวลาเกิดเพลิงไหม้จะมีการตัดไฟ ซึ่งอาจจะทำให้หาทางออกไม่เจอหรือหากุญแจไม่เจอ หากถึงเวลาแต่หากุญแจไม่ทันนั่นหมายถึงชีวิต ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนควรเตรียมพร้อมดูแลตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็จะพยายามปรับเรื่องการช่วยเหลือด้านการดับเพลิง โดยเข้าถึงเหตุให้เร็วขึ้น ตอนนี้ได้ให้ตั้งศูนย์บรรเทาภัย รับลงทะเบียนผู้ประสบภัย จัดหาที่อยู่อาศัย และความช่วยเหลือเบื้องต้น
ในส่วนของพื้นที่ที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นชุมชน แต่มีความประสงค์ถังแดง เป็นนโยบายที่เราจัดให้ได้ เพราะทุกคนก็จ่ายภาษีเหมือนกัน ต้องช่วยหมด ขณะเดียวกันก็ต้องดูเรื่องมาตรการในการอนุมัติให้เป็นชุมชน ซึ่งน่าจะทำให้สะดวกขึ้น เพราะการเป็นชุมชนจะดีตรงที่เข้าสู่ระบบเรา ทำให้เรามีฐานข้อมูล รวมถึงจะมีอาสาสมัครต่าง ๆ และเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ได้มากขึ้น ปัจจุบันระเบียบอาจจะตึงบ้างในบางส่วน ต้องไปทบทวนเรื่องนี้ ปรับให้สามารถนำชุมชนเข้าสู่ระบบ ปัญหาตอนนี้คือการจะเป็นชุมชนต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของบ้านทุกหลัง หรือกรณีหลังคาเรือนน้อยกว่าที่กำหนด ซึ่งในเรื่องนี้จะให้รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ดูรายละเอียดว่าจะปรับระเบียบอย่างไรเพื่อให้โอบรับชุมชนต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา และเพื่อให้เราสามารถให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
● นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เลือกตั้งปีนี้มีผู้ใช้สิทธิมากกว่าที่ผ่านมา
โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้มีการรายงานเรื่องของผลการเลือกตั้ง ซึ่งกรุงเทพมหานครผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 4,479,599 คน มาใช้สิทธิ 3,312,916 คน คิดเป็นร้อยละ 73.96 เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประชาชนกรุงเทพฯ ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 31 ประกอบด้วย เขตทวีวัฒนา และเขตตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงบางเชือกหนัง) คิดเป็นร้อยละ 77.78 มีบัตรเสียร้อยละ 1.45 ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. กทม. แบบบัญชีรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ เรียงลำดับผลคะแนนสูงสุด 3 ลำดับ ดังนี้ 1. พรรคก้าวไกล ได้คะแนน 1,600,689 คะแนน 2. พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนน 630,997 คะแนน และ 3. พรรคเพื่อไทย ได้คะแนน 600,267 คะแนน โดยคะแนนข้างต้นเป็นข้อมูลที่รายงานในที่ประชุม แต่ต้องรอทาง กกต. ยืนยันอีกครั้ง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการสรุปบทเรียนเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปราบรื่นมากที่สุด เช่น การพัฒนาหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าให้ดีขึ้น การติดตั้งกล้อง CCTV ห้องเก็บหีบบัตรเลือกตั้งเพื่อความโปร่งใส โดยให้มีความพร้อมในเรื่องระบบสำรองไฟ เพราะประชาชนให้ความสนใจค่อนข้างมาก เป็นต้น ซึ่งจะนำมาเป็นบทเรียนสำหรับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร และจะมีการส่งให้ กกต. รับทราบ เผื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
อนึ่ง เมื่อปี 2550 กรุงเทพมหานครมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,139,894 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 2,871,827 คน คิดเป็น 69.37% มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วน จำนวน 2,808,911 คน คิดเป็น 67.85% เมื่อปี 2554 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,260,951 คน มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 3,059,551 คน คิดเป็น 71.80% มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 3,059,476 คน คิดเป็น 71.80% และเมื่อปี 2562 ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,489,223 คน (หน่วยเลือกตั้ง 6,149 หน่วย) มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,255,232 คน คิดเป็น 72.51%
—————————