(23 พ.ค.66) เวลา 16.00 น. นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวแสดงเจตนารมณ์การบูรณาการโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) และร่วมกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธี ณ บริเวณหน้าอาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คนไร้บ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความบกพร่องของสวัสดิการบางอย่าง คนไร้บ้านจึงเป็นกลุ่มคนเปราะบางในสังคมซึ่งด้อยโอกาสและขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย การเข้าถึงแหล่งงาน การเข้ารับบริการทางสาธารณสุขและสิทธิสวัสดิการที่พึงได้รับ โดยจำนวนการแจงนับคนไร้บ้านในกรุงเทพมหานครของเครือข่าย ด้านคนไร้บ้าน เมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 พบจำนวน 1,307 คน และกรุงเทพมหานคร โดย สำนักพัฒนาสังคมได้มีการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ 50 เขต อย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรวจและทำประวัติ ให้คำปรึกษา แนะนำความช่วยเหลือตามสภาพปัญหา โดยในปี 2563-2565 พบคนไร้บ้าน ในพื้นที่สาธารณะ เฉลี่ยปีละ 1,346 คน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ได้ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนโยบายบูรณาการความร่วมมือในรูปแบบคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านคนไร้บ้านของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ศูนย์ศึกษาแม่โขง สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายคนไร้บ้าน ฯลฯ เพื่อดำเนินการด้านการจัดทำระบบฐานข้อมูล การจัดระเบียบจุดบริการแจกอาหาร และการให้บริการสวัสดิการสังคมในจุด drop in จำนวน 2 แห่ง บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณตรอกสาเก เป็นการรักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้คนไร้บ้านผ่านการตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการ โดยจัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมสนับสนุน ในด้านต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล การทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ รถบริการทะเบียนเคลื่อนที่และที่ฝ่ายทะเบียนสำนักงานเขต การส่งเสริมอาชีพ บริการจัดหางาน ตัดผม บริการรถเคลื่อนที่ ซัก อบ อาบ และรับสมัครงานตามโครงการจ้างวานข้า ของมูลนิธิกระจกเงา บริการรถสุขาเคลื่อนที่ บริการรับบริจาคและแจกอาหาร รวมถึงการเปิดให้บริการบ้านอิ่มใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน (Emergency shelters) บริเวณสะพานเฉลิมวันชาติ เขตพระนคร ในปี 2567 เพื่อรองรับการเข้าพักอาศัยของคนไร้บ้าน จำนวน 100 คน (ชาย 50 คน หญิง 50 คน)
การจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ในครั้งนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บูรณาการดำเนินการด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งร่วมกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา และภาคีเครือข่าย โดยจะมีการแจงนับคนไร้บ้านครอบคลุมทั้งประเทศพร้อมกันภายในคืนเดียว ทั้งในพื้นที่สาธารณะและในศูนย์พักของภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การขยายผลเชิงปฏิบัติและนโยบาย และเป็นการหนุนเสริมระบบการดูแลและป้องกันภาวะการไร้บ้าน โดยเห็นว่าสมควรมีการแจงนับในทุก ๆ รอบ เช่น ทุก 5 ปี เพื่อชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางประชากรคนไร้บ้าน กล่าวคือ หากจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านมีจำนวนสูงขึ้น ก็จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการแก้ไขความยากจนกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
สำหรับกิจกรรมฯ ประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวง และกรุงเทพมหานคร กล่าวทักทายหน่วยงาน One Home ทั่วประเทศ ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting กล่าวแสดงเจตนารมณ์การบูรณการทำงานและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานและเครือข่าย การปล่อยขบวนรถ One Night Count เพื่อสำรวจจำนวนคนไร้บ้าน โดยบุคลากรกว่า 1,000 คนใน 200 เส้นทาง พร้อมกันทั่วประเทศ การลงพื้นที่บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน พร้อมกับการลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อแจงนับคนเร่ร่อน สรุปผลสถิติ เพื่อเตรียมประกาศให้สาธารณชนรับทราบต่อไป
โครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) ในครั้งนี้มีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ดร.นายแพทย์ สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รองศาสตราจารย์ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ผู้แทนเครือข่ายคนไร้บ้าน ร่วมงาน นอกจากนี้ยังมีหน่วยงาน One Home ทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting
#ปลอดภัยดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—————-