(9 พ.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้โอวาทเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกรุงเทพมหานครกับเมืองพี่เมืองน้องและเมืองที่มีความสัมพันธ์ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมอบแรงบันดาลใจและแนวคิดในการใช้ชีวิต 3 ข้อ คือ
•สะสมจุดให้ชีวิต
อย่างแรก ชีวิตของคนเราคือการสะสมจุด และลากเส้นต่อจุด สะสมจุดคือการหาความรู้ หาประสบการณ์ การได้ไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศของน้อง ๆ ก็เหมือนการสะสมจุด เป็นจุดใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราอาจได้เพื่อนใหม่ ความรู้ใหม่ บางทีเราไม่รู้ว่าจุดที่เราได้เก็บสะสมไว้จะมีประโยชน์กับเราอย่างไร แต่เมื่อเวลามาถึงจุดเหล่านี้จะมีค่าในการพาเราลากเส้นไปหาโอกาสดี ๆ ในอนาคต
•อิสระแบบคิปโชเก
อย่างที่สอง หากใครรู้จัก คิปโชเก (Eliud Kipchoge) จะรู้ว่าเขาคือ นักวิ่งมาราธอนคนแรกของโลกที่วิ่งทำลายกำแพงของระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง คิปโชเกในวัยเด็กยากจนมากแต่ฝ่าฟันจนกลายเป็นนักวิ่งระดับโลก มีคำพูดหนึ่งของคิปโชเกที่ผู้คนกล่าวถึงกันมาก คือ “คนที่มีระเบียบวินัยเท่านั้น ถึงจะเป็นคนที่มีอิสระในชีวิต หากไม่มีระเบียบวินัย คุณจะเป็นทาสของอารมณ์และแพสชัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติเล่าย้อนไปถึงวัยเด็กของตนเพื่ออธิบายประโยคของคิปโชเก ว่า ในวัยเด็กเป็นคนที่วินัยในการอ่านหนังสือมาก แบ่งเวลาอ่านหนังสือ 3 ชม./วัน 6วัน/สัปดาห์ ตั้งแต่มัธยม จนจบมหาวิทยาลัย จนหลายคนบอกว่าชีวิตดูไม่มีอิสระ แต่ถึงปัจจุบันนี้ตนกลับมีอิสระในเส้นทางชีวิตมาก เพราะระเบียบวินัยในการศึกษาหาความรู้ ทำให้ตอนนี้อยากจะทำอะไร อยากจะเป็นอะไรก็ได้ และวันนี้ก็ได้มาเป็นผู้ว่าฯ กทม.
•โตไปไม่ Fixed
อย่างที่สาม ว่าด้วยเรื่อง Mindset หรือกรอบความคิด 2 แบบ คือ Growth Mindset และ Fixed Mindset ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ยกตัวอย่างให้น้อง ๆ เยาวชนคิดตามอย่างเห็นภาพว่า หากเราเชื่อว่าการที่เราสอบคัดเลือกผ่านได้เป็นเยาวชนแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศ เป็นเพราะเราฉลาด เก่ง คือการคิดแบบ Fixed Mindset แต่หากเราเชื่อว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเรามีความพยายาม ขวนขวาย คือการคิดแบบ Growth Mindset ความแตกต่างคือ Fixed Mindset จะทำให้เราไม่พัฒนาตัวเอง ย่ำอยู่กับที่และกลัวความล้มเหลว แต่หากเป็น Growth Mindset จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่กลัวที่จะล้มแล้วลุกใหม่ ดังนั้นจงฝึก Mindset ของตัวเองให้ Growth ไม่ Fixed
สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกรุงเทพมหานครกับเมืองพี่เมืองน้องและเมืองที่มีความสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักงานการต่างประเทศ และสำนักการศึกษา จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสแก่เยาวชนในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเยาวชน ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเมืองพี่เมืองน้องต่าง ๆ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งทางด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ในครั้งนี้ มีเยาวชนแลกเปลี่ยนจำนวนทั้งสิ้น 48 คน แบ่งเป็น โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับกรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี 30 คน โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น 13 คน โดยในปีนี้เน้นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่องสิ่งแวดล้อม และโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน Scarlet Sails ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย 5 คน ทั้งนี้ โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างกรุงเทพฯ และสหพันธรัฐรัสเซีย จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดย Scarlet Sails คือชื่อเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อฉลองให้แก่นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย ในงานจะมีการแล่นเรือสำเภาโบราณในแม่น้ำเนวา นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งความหวังและความฝันของเยาวชน
#เรียนดี #สร้างสรรค์ดี
———-