กทม.กำชับ BTSC บำรุงรักษาระบบอุปกรณ์รถไฟฟ้า BTS ซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินพร้อมรับสถานการณ์
นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS ติดอยู่ในขบวนรถไฟฟ้า BTS ขณะถึงสถานีปลายทางเคหะ ประตูรถไฟฟ้าไม่เปิดให้ผู้โดยสารและมีการดับไฟและเครื่องปรับอากาศ โดยไม่ได้ประกาศแจ้งใด ๆ ว่า สจส.ได้ประสานบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) ผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้า BTS พบว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.66 เกิดเหตุการณ์จากขบวนรถหมายเลข 23 ขณะเข้าสถานีปลายทางเคหะฯ ขบวนรถได้จอดเลยจุดจอดที่สถานีในระบบอัตโนมัติ ทำให้ประตูรถไฟฟ้าอัตโนมัติไม่สามารถเปิดได้ เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้า จึงได้ติดต่อศูนย์ควบคุมการเดินรถขออนุมัติในการแก้ไขปัญหา โดยรีสตาร์ท (ปิด– เปิด) ระบบรถไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าแสงสว่างและเครื่องปรับอากาศในขบวนดับลงประมาณ 2 นาที และหลังจากการรีสตาร์ท ขบวนรถยังไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ เจ้าหน้าที่จึงเข้าไปตรวจสอบในขบวนรถพบว่า มีการดึงคันโยกฉุกเฉิน เพื่อเปิดประตู 3 ประตู เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการแก้ไขปัญหาและรีเซ็ตคันโยกฉุกเฉินทั้งหมด จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนรถถอยหลังเข้าสถานีและส่งผู้โดยสาร รวมใช้ระยะเวลาแก้ไขระบบประมาณ 14 นาที โดยระหว่างการแก้ไขเหตุการณ์ ขบวนรถไฟฟ้าสายสุขุมวิทยังคงให้บริการตามปกติ โดยใช้ชานชาลาสถานีเคหะฯ อีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม สจส.ได้กำชับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ให้กำกับดูแลบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC) โดยเข้มงวดตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา รวมทั้งจัดให้มีการซ้อมแผนปฏิบัติการเผชิญเหตุฉุกเฉินทั้งในสถานีและในขบวนรถไฟฟ้าให้พร้อมรับมือการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างดี โดยต้องแจ้งสาเหตุที่ขัดข้องและระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ไข พร้อมแนวทางการปฏิบัติตนขณะเกิดเหตุให้ผู้โดยสารทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และพึงพอใจกับการให้บริการของกรุงเทพมหานครต่อไป
กทม.สอบสวนโรคบริเวณท่าพระจันทร์ หลังพบคนเร่ร่อนเสียชีวิต เข้มงวดมาตรการป้องกันโรคในกลุ่มคนไร้บ้าน
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม.กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพบศพชายเร่ร่อนนอนเสียชีวิตบนทางเท้าบริเวณหน้าธนาคารแห่งหนึ่ง สาขามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ท่าพระจันทร์ ผลตรวจ ATK พบติดเชื้อโควิด 19 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ประสานศูนย์บริการสาธารณสุข ๑ (สะพานมอญ) กองควบคุมโรค สำนักอนามัย และสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ชนะสงคราม ร่วมประชุมหารือแนวทางการควบคุมโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้จัดให้มีบริการดูแลสุขภาพและสุขอนามัยของคนไร้บ้านในพื้นที่เขตพระนครทุกวันศุกร์ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดยศูนย์บริการสาธารณสุข ๑ (สะพานมอญ) และศูนย์บริการสาธารณสุข ๙ (ประชาธิปไตย) เพื่อตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น รวมถึงแนะนำสวัสดิการด้านอื่น ๆ ให้แก่ผู้ไร้บ้าน อาทิ การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน การสมัครงาน การแจกอาหาร ตลอดจนร่วมลงพื้นที่ให้คำแนะนำและแจกหน้ากากอนามัยให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ยังได้ตรวจตรากวดขันไม่ให้คนไร้บ้านใช้พื้นที่สาธารณะในการหลับนอนและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณถนนราชดำเนินกลางที่มีกลุ่มคนไร้บ้านสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาพักอาศัยและรอรับความช่วยเหลือ โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และ สน.สำราญราษฎร์ ร่วมลงพื้นที่จัดระเบียบในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า จากการประสานโรงพยาบาล วชิรพยาบาล ทราบว่า ได้นำศพชายดังกล่าวมาไว้ที่แผนกนิติเวช เพื่อรอญาติมาติดต่อขอรับศพไปประกอบพิธี และในวันนี้ (24 เม.ย.66) กองควบคุมโรคติดต่อและศูนย์บริการสาธารณสุข 1 สำนักอนามัย ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคบริเวณดังกล่าว ขณะเดียวกันได้ประสานกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 ในกลุ่มคนเร่ร่อนและคนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ เช่น การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรค อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เป็นต้น
นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม.กล่าวว่า สพส.ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานเขต สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สภากาชาดไทย สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา มูลนิธิอิสรชน เป็นต้น เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน โดย กทม.ได้จัดตั้งจุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop in) บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และตรอกสาเก เพื่อให้บริการด้านการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำ การมีงานทำ การทำบัตรประจำตัวประชาชน การแนะนำที่พักอาศัย การให้บริการซัก อบ อาบ ิขณะเดียวกันได้ดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยให้ความรู้การป้องกันโรค การจัดระยะห่างในการรับแจกอาหาร การตรวจสุขภาพโดยทีมงานทางการแพทย์เป็นประจำทุกวันศุกร์ รวมทั้งจัดหาและแจกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ การฉีดพ่นฆ่าเชื้อ และทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ที่มีคนเร่ร่อนไร้บ้านอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น บริเวณจุดแจกอาหารใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตรอกสาเก และถนนราชดำเนิน เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด 19
กทม.ประสานความร่วมมือเข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจำหน่ายกัญชาบริเวณถนนข้าวสาร
นายสัมฤทธิ์ สุมาลี ผู้อำนวยการเขตพระนคร กทม. กล่าวกรณีมีการเผยแพร่คลิปผู้เสพกัญชาบริเวณถนนข้าวสาร สร้างความเดือดร้อนจากกลิ่นและควันว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี และสำนักอนามัย ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจตรา สื่อสาร ป้องปรามสถานประกอบการร้านค้า รวมทั้งตักเตือนให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการที่จำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุม (ช่อดอกกัญชา) ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.๒๕๖๕ บริเวณถนนข้าวสารและซอยรามบุตรี รวม ๑๔ ร้าน พบว่า มีใบอนุญาตและทำตามเงื่อนไขใบอนุญาตถูกต้อง จำนวน ๙ ร้าน พักใช้ใบอนุญาต จำนวน ๒ ร้าน และดำเนินคดีเนื่องจากจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน ๓ ร้าน สำหรับมาตรการเพิ่มความเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. สำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เข้มงวดตรวจตรา กวดขัน และดำเนินคดีกับหาบเร่แผงลอยที่จำหน่าย ตั้งวางกัญชาในพื้นที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมสอดส่อง กำกับดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ หากพบการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายและประสานหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างทันท่วงทีต่อไป
นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ (สนท.) กทม.กล่าวว่า สนท.ได้บูรณาการร่วมกับ สำนักงานเขต สำนักอนามัย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อควบคุมการจำหน่ายกัญชาและสินค้าผิดกฎหมายอื่น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง หากเป็นพื้นที่ทำการค้า เช่น ถนนข้าวสาร ที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายสินค้าในบริเวณดังกล่าวจะต้องจำหน่ายสินค้าตามประเภทที่ได้ขออนุญาตไว้กับ กทม.เท่านั้น และตามประกาศ กทม.เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในที่สาธารณะ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะไม่สามารถอนุญาตให้ขายในพื้นที่ทำการค้าได้ หากขายในพื้นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่ทำการค้าจะไม่สามารถขายได้เช่นกัน ทั้งนี้ กทม.ได้บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจตราและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป